กลุ่ม "เหย่ะลายดี" ฟื้นอัตลักษณ์ชาวยองโชว์ผ้าดีบ้านดอนหลวงบูมท่องเที่ยววิถีชุมชน

กลุ่ม "เหย่ะลายดี" ฟื้นอัตลักษณ์ชาวยองโชว์ผ้าดีบ้านดอนหลวงบูมท่องเที่ยววิถีชุมชน





ad1

น่าน-กลุ่ม "เหย่ะลายดี" ฟื้นอัตลักษณ์ชาวยอง โชว์ผ้าดีบ้านดอนหลวง เปิดกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน เตรียมรับนักท่องเที่ยวสายเวิร์กชอป

กลุ่มคนที่รักงานผ้าฝ้าย  น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก  "บ้านดอนหลวง" ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพราะเป็นหมู่บ้านชาวยอง ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 200ปี  ชุมชนเล็กๆแห่งนี้ มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าฝ้ายที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย   แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและเป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่อย่างลำปางและเชียงใหม่  มีการไหล่บ่าของผลิตภัณฑ์และสินค้าเชิงอุตสาหกรรมที่มีราคาถูกเพื่อดึงดูดแรงซื้อจากกลุ่มลูกค้า  ทำให้ชุมชนเล็กๆแห่งนี้ก็ต้องปรับตัว จนเกิดภาพจำที่ลดทอนมูลค่างานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือบ้านดอนหลวง และงานฝีมือผ้าฝ้ายก็กำลังเลือนรางไป

พี่เด่น บ้านดอนหลวง หรือ นายจักรกฤษณ์ ตาน้อย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านดอนหลวง เล่าว่า  ได้รวมกลุ่มคนบ้านดอนหลวงรุ่นใหม่ไฟแรง 7-10 คน ซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ประกอบการงานผ้าฝ้ายและคนที่รักความเป็นชาวยอง รักถิ่นฐานบ้านเกิด ต้องการสร้างภาพจำที่เป็นอัตลักษณ์    โดยใช้ชื่อกลุ่ม "เหย่ะลายดี"  ซึ่งคำว่า "เหย่ะ" เป็นภาษายอง หมายถึง "ทำ"  และนำ "ลายลูกแก้ว" ซึ่งเป็นลายพื้นฐานผ้าทอ มาดัดแปลงเป็นลายกราฟฟิค จนกลายเป็นโลโก้ของกลุ่มเพื่อใช้สื่อสารสร้างการจดจำ โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6  องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งได้ช่วยกันพัฒนาและออกแบบกิจกรรมงานเวิร์กชอป  และนำศักยภาพของชุมชนมาเป็นการท่องเที่ยว จนช่วงเวลากว่า 1 ปี ทำให้วันนี้กลุ่ม "เหย่ะลายดี"  พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสายเวิร์คชอปแล้ว

โดยกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆในชุมชนแห่งนี้ คือการได้ลองปักผ้าและการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติที่ไม่ว่าใครๆ ก็ทำได้  และยังสนุกกับการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างงานที่มีชิ้นเดียวในโลก  เป็นงานฝีมือที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ภูมิใจ และอาจต้องประหลาดใจกับการค้นพบศักยภาพของตัวเอง จนพัฒนากลายเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพได้ด้วย  นอกจากนั้นยังได้ลองทำและลิ้มชิมรสความอร่อยกับเมนู "หมี่สะแน็ต" หรือ "ยำผักรวม" อาหารพื้นบ้านของชาวยอง และ "พิซซ่าเตาเผา สูตรซอสอีดอ" ที่ได้นำลำไยพันธุ์อีดอ  ผลไม้ของดีจังหวัดลำพูน มาคิดค้นจนมีรสชาติอร่อยได้สัมผัสเนื้อลำไยในรูปแบบพิซซ่า ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน

และได้เรียนรู้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชาวยอง ผ่านการบอกเล่าของเหล่าวิทยากรที่เป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศการเวิร์กชอปเป็นเหมือนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน และเหมือนลูกหลานที่รอต้อนรับ ดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี การทำเวิร์กชอปจึงเป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายไปในตัว และจุดสตูดิโอของกลุ่ม ยังอยู่ในชุมชนที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว ที่มีทั้งโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และแหล่งจำหน่ายของที่ระลึก โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวเล่น  และมานอนพักค้างแรมได้ เนื่องจากไม่ไกลจากตัวเมืองลำพูน

นางศุภรดา กานดิศยากุล รักษาการ รองผู้จัดการ อพท.6    ได้จัดกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวโดยชุมชน (product testing) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนดอนหลวง โดยมีนายจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน  พร้อมด้วยชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดน่าน ร่วมกิจกรรมเพื่อให้คำแนะนำและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านดอนหลวง

ซึ่งพบว่ามีศักยภาพในการเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน และมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังช่วงสถานการณ์โรคโควิดที่กำลังผ่อนคลายลง  โดย อพท. 6 และ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน จะยังช่วยสนับสนุนในทุกด้านโดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อให้บริษัททัวร์ และกลุ่มนักท่องเที่ยวได้รู้จัก "เหย่ะลายดี" การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่บ้านดอนหลวง และจะทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างมีอัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น

 ระรินธร   เพ็ชรเจริญ  รายงาน