"จักรวาลสีกากอล์ฟ" – ข้อหา คดี และมิติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

"จักรวาลสีกากอล์ฟ" – ข้อหา คดี และมิติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง





Image
ad1

กรณี  “ สีกากอล์ฟ ” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ประเด็นพระที่ตกเป็นเหยื่อล้วนแต่เป็นพระผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์สูง แต่เธอยังได้เก็บภาพและคลิปวิดีโอที่เคยถ่ายเก็บไว้รวมกันกว่า 80,000 ภาพ ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถบ่งบอกและเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างสีกากอล์ฟ กับ พระผู้ใหญ่จากวัดดัง ๆ และเป็นที่มาให้พระผู้ใหญ่เหล่านี้จำนนด้วยหลักฐานและต่างทยอยลาสิกขาในที่สุด
ในการลาสิกขานั้น....หากอดีตพระรูปใดมีเพียงประเด็น “ การเสพเมถุน” จะมีโทษชัดใน “ พระธรรมวินัย ” เป็น “ อาบัติปาราชิก ”  ไม่สามารถกลับมาบวชได้ เท่านั้น 
แต่หาก (อดีต) พระรูปใด หากตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า “ มีเส้นเงินที่โอนไปให้สีกากอล์ฟ แล้วพบว่า เป็นการ “ ยักยอกเงินวัด” ก็จะถูกดำเนินคดีอาญา  ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของสีกากอล์ฟ พบมี “ เงินหมุนเวียน 385 ล้านบาท ในรอบ 3 ปี”  แต่ได้มีการถอนออกไปจากบัญชีเกือบทั้งหมด คงเหลืออยู่ประมาณ 8,000 บาท และยังพบว่า “สีกากอล์ฟ” มีการนำเงินบางส่วนไป  “ เล่นการพนัน (ออนไลน์)”

คดี " สีกากอล์ฟ"  เริ่มจาก “ คดีกรรโชกทรัพย์ ” พระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ "เจ้าคุณอาชว์" อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ และขยายผลพบความเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์อีกหลายรูป

ภายหลัง พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  รวบรวมพยานหลักฐานแล้วขอ “ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ”  ออกหมายจับ และต่อมาสามารถควบคุมตัว “สีกากอล์ฟ” เดินทางไปขอฝากขังที่ “ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง”  ในความผิดฐาน “ สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐยักยอกทรัพย์”( ยักยอกเงินวัด )  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, ฐาน  “ สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตฯ ” ตามมาตรา 157 และ ฐาน  “ สมคบฟอกเงิน” และ ฐาน “ รับของโจร ”  ภายหลังตรวจพบ เส้นทางการเงินของอดีตพระเทพพัชราภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา โอนเงินจากบัญชีของวัดไปให้สีกากอล์ฟ จำนวน  3.8 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังถูกตำรวจ “ กองบังคับการปราบปราม ” แจ้งข้อหาอีก 3 ข้อหา คือ ฐาน “ รีดเอาทรัพย์ ” และ ฐาน “ ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียเสรีภาพ” และฐาน “ ฉ้อโกง ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 , 310 และ 341 ( ตามลำดับ )

 คดี "สีกากอล์ฟ" เกี่ยวข้องกับ “ ข้อหา” และ “ การดำเนินคดี ” ที่หลากหลาย :

“ การทุจริตเงินวัด ” เป็นประเด็นหลักของคดีนี้ ซึ่งมีการตั้งคำถามถึง “ ที่มาของเงิน” และ  “ มาตรฐานทางกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินคดี” 
หากเงินเป็นของวัด :
เมื่อ “ เจ้าอาวาส” เป็น “ เจ้าพนักงาน” ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505  แล้ว
หาก “ เจ้าอาวาส”  ยักยอกเงินของวัดไป ตัวเจ้าอาวาสจะมีความผิดฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์” และ ฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157  
มาตรา 147 บัญญัติว่า “ ผู้ใด เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท

มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง  10 สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วน “สีกากอล์ฟ” เมื่อไม่ได้มีฐานะเป็น “ เจ้าพนักงาน ”  จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 147 , มาตรา 157 ดังกล่าว  แต่ “ สีกากอล์ฟ ” อาจจะมีความผิด ดังนี้
 
ฐาน “ สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ”  ตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม มาตรา 147 และฐาน “ สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”  มาตรา 157 ประกอบ 86 
โดย “ผู้สนับสนุน” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานดังกล่าว
ทั้งนี้ “ สีกากอล์ฟ ”  หรือ ผู้ที่ได้รับเงิน (ของวัด) โอนมาจาก “เจ้าอาวาส” ซึ่งเป็น เจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย จะต้อง “ รู้ หรือ ควรจะรู้” ว่า เงินที่โอน เป็น เงินของวัด ย่อมมีความผิดฐาน “สนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์” และฐาน “ สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”  ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งมีระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานดังกล่าว ( มาตรา 147, 157 )

ฐาน  “ ร่วมกันฟอกเงิน” , “ร่วมกัน สมคบกันฟอกเงิน”  ตามพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 

“ ผู้ใดกระทำการฟอกเงิน” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  
หากผู้กระทำ กระทำเพียงแค่ “ สมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน”  ผู้กระทำจะรับโทษเพียงแค่ “ กึ่งหนึ่ง ” ของโทษตามมาตรา 60  ( มาตรา 9 )
แต่ถ้ามีการกระทำผิดตามที่สมคบกันดังกล่าว “ ผู้สมคบ” ต้องรับโทษเต็มตามมาตรา 60
คราวนี้มาดูกันว่า ....ความผิดฐาน “ ฟอกเงิน”  คืออะไร

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา มาตรา 5 ผู้ใด
(1) โอน รับโอน หรือ เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ

(2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

(3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ผู้นั้นกระทำความผิด “ ฐานฟอกเงิน ” 
 ฐาน “ รับของโจร ” ( รับไว้โดยรู้ว่า ทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิด )  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ( ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ) 
 
ฐาน : เล่นการพนัน ( พนันออนไลน์ ) 
ความผิดตามข้อ  (1) ถึง (4) “รัฐ”  หรือ แผ่นดิน เป็น ผู้เสียหาย 
สำหรับ “ พระ ” ที่ไม่ได้เป็น “ เจ้าอาวาส” จึงไม่มีฐานะเป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมาย แต่หาก “พระ” รูปนั้น ยักยอกเงินของวัด ไป ก็จะเป็นความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มาตรา 352 
 
 “ ผู้ใด ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ยักยอก”  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 แต่แม้ พระรูปนั้น จะไม่เป็น “ เจ้าอาวาส” จึงไม่มีฐานะเป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมาย ก็ตาม เช่น เป็น “ผู้ช่วยเจ้าอาวาส”  แต่หาก ได้รับ “มอบหมาย” ให้จัดการทรัพย์สินของวัด “ พระ” รูปนั้น ก็อาจเป็นความผิดตาม มาตรา 353 ได้
มาตรา 353  ผู้ใด ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วน “สีกากอล์ฟ” หรือ ผู้ได้รับโอนเงิน (ของวัด) จาก “ พระ” รูปนั้น ก็อาจเป็นความผิดฐาน “สนับสนุนยักยอกทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 หรือ 353 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งจะได้รับโทษ 2 ใน 3 ของ มาตรา 352 , 353 
นอกจากนี้ “ สีกากอล์ฟ ” อาจมีความผิด
(5) ฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”  : 
           
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ( ฉ้อโกง ) : ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิด ฐาน “ ฉ้อโกง ”
โทษจำคุกไม่เกิน  3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(6) ฐาน “ รีดเอาทรัพย์ ” 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338  :  ผู้ใด ข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดย “ ขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ”  ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น 
ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ รีดเอาทรัพย์”  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท
(7) ฐาน “ กรรโชกทรัพย์” 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 : “ผู้ใด ข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือ ยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
 ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ กรรโชก”  ต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกิน  5 ปี และปรับไม่เกิน100,000 บาท”
ความผิดฐาน “ รีดเอาทรัพย์”มีองค์ประกอบความผิดเหมือนกับความผิดฐาน “ กรรโชกทรัพย์ ”  แตกต่างกันเพียง ขู่เข็ญว่าจะ “ เปิดเผยความลับ”  (Disclose the secret) ไม่ได้เป็นการขู่เข็ญในเรื่อง ทั่วๆ ไป
(8) ความผิดต่อเสรีภาพ ฐาน “ ข่มขืนใจ :  
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 :  ผู้ใด ข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อ ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือของผู้อื่น หรือ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น 
ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10843/2553
แม้เรื่องที่จำเลยนำไปขู่เข็ญ “ผู้เสียหายซึ่งเป็นภิกษุ”  ว่า ผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงจะ  “ ไม่เป็นความจริง”  จึง “ ไม่ถือเป็นความลับ” อันเป็นความผิดฐาน “รีดเอาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ดังที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ จนผู้เสียหายผู้ถูกข่มขืนใจยอมใช้เงินแก่จำเลยอันเป็นความผิดฐาน  “ กรรโชก ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก

ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐาน “กรรโชก” ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 192 วรรคสาม
ความผิดตาม (6) ถึง (8) ผู้เสียหาย คือ “ พระ” ซึ่งเป็น “ ผู้ถูกหลอก” ,“ ผู้ถูกข่มขู่ , ผู้ถูกขู่เข็ญ ” ว่าจะถูกเปิดเผยความลับ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และ “ (อดีต) ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตร”  ( สีกากอล์ฟ หลอกลวง อดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ จังหวัดพิจิตรว่าป่วยเพื่อขอยืมเงินจำนวน 400,000 บาท แลกกับการมอบหลักฐานกรณีเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรมีความสัมพันธ์กับ สีกากอล์ฟ )  ซึ่งจำเป็นที่จะต้อง “ แจ้งความร้องทุกข์” ต่อ พนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว ( หาก พระ ที่ถูกหลอก , พระที่ถูกข่มขู่ ไม่แจ้งความร้องทุกข์ ก็อาจจะไม่สามารถดำเนินคดีกับ สีกากอล์ฟในความผิดฐานดังกล่าวได้ )  
    
บทสรุป
คดี "สีกากอล์ฟ" เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของปัญหาการทุจริตในวงการศาสนา ซึ่งมีข้อหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การทุจริตวัด การฉ้อโกง การฟอกเงิน ไปจนถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการและการข่มขู่บังคับผู้อื่น  การดำเนินคดีอาญาในลักษณะนี้ต้องอาศัยการรวบรวมพยานหลักฐานที่หนักแน่น และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตาม "มาตรฐานกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินคดี". 
นอกจากนี้ คดีนี้ยังได้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์และความเหมาะสมทางจริยธรรม ซึ่งบางประเด็นอาจนำไปสู่การพิจารณาถึงการกำหนดความผิดทางอาญาเพิ่มเติมในอนาคต
ข้อเสนอแนะ
จากประเด็นที่ปรากฏในกรณี "สีกากอล์ฟ" ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะได้ดังนี้:

เสริมสร้างความโปร่งใสในองค์กรศาสนา : ควรมีการ “ ส่งเสริมกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุล”  ในวัดและองค์กรศาสนาต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตและสร้างความมั่นใจให้แก่สาธารณชนผู้บริจาค.
 ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนและ พระสงฆ์ : 
 พิจารณาความชัดเจนทางกฎหมายสำหรับประเด็นที่อ่อนไหว : สำหรับประเด็นที่ว่า 
" พระ กับ สีกา เสพเมถุน ควรมีความผิดทางอาญาหรือไม่ ? "
เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับ จารีตประเพณี วินัยสงฆ์ และกฎหมายอาญา 
ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาศึกษาและให้ความชัดเจนทางกฎหมาย หรือ ส่งเสริม      การรับรู้เกี่ยวกับ “ ผลทางวินัยสงฆ์” และ “จริยธรรม” ที่เข้มงวด เพื่อรักษาความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน.
การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง : กรณีทุจริตวัดและประเด็นฟอกเงินที่ซับซ้อน เน้นย้ำ
ความจำเป็นในการ “ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและฟอกเงิน” อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยุติธรรมและป้องปรามผู้ที่คิดจะแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากกิจการทางศาสนา.

โดย...นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิ