“สนามบินพัทลุง”นับ 1 ใหม่ ได้งบออกแบบ 42 ล้าน ศึกษาความเป็นไปได้เชิงลึก

“สนามบินพัทลุง”นับ 1 ใหม่ ได้งบออกแบบ 42 ล้าน  ศึกษาความเป็นไปได้เชิงลึก





Image
ad1

“สนามบินพัทลุง” ได้งบปี 69-70 ออกแบบ 42 ล้าน นับ 1 ใหม่ ศึกษาความเป็นไปได้เชิงลึก ข้อมูลอัพเดทเพราะโลเกชั่นเปลี่ยนได้สนามบินคุ้มทุนตอบโจทก์ยั่งยืนไม่ซ้ำรอยสนามบินที่เป็นอุปสรรคเรื่องการอำนวยความสะดวก 

นายกิตติพิชญ์ กลับคุณ ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง เปิดเผยฃว่า ท่าอากาศยานพัทลุงจากได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้มาหลายปี ได้มานับ 1 ใหม่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงลึก ให้ข้อมูลทันสมัยเข้ากับโลเกชั่นที่เปลี่ยนไปและกับสถานการณ์ทุกส่วนอย่างรอบคอบ และให้เป็นสายการบินที่ตอบโจทก์และยั่งยืน

“เพราะจะต้องคุ้มทุน มิใช่ประสบซ้ำกับรอยเดิมเหมือนกับท่าอากาศยานซึ่งมีบางแห่งบางจังหวัด เช่น มี 2 ไฟท์ / วัน ทั้งขาไปขากลับแต่ขากลับอุปสรรคเรื่องของเวลาที่จะต้องเลื่อนไปลงสนามบินอื่น ๆ ในจังหวัดใกล้เคียง จนผู้ใช้บริการต้องประสบอุปสรรค ดังนั้นการสร้างท่าอากาศยานจะต้องตอบโจทก์และยั่งยืนคุ้มทุน การเดินทางบางโอกาสก็เร่งด่วนต้องการอำนวยความสะดวกไปเช้ากลับเย็น”

นายกิตติพิชญ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับภาคเอกชนต้องการให้ท่าอากาศยานพัทลุงเกิดแต่ไม่ใช่จะเข้มข้นเร่งด่วนที่จะให้เกิด แต่สิ่ฃงสำคัญคือที่ต้องการเรื่องที่ดินการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง เพราะอนาคตที่ดินขนาดแปลงใหญ่และเหมาะสมนั้นจะหาอยากมาก ดังนั้นที่ดินการลงทุนสร้างท่าอากาศยานพัทลุงจะต้องมีไว้ก่อน ส่วนที่ดินที่จะสร้างจะสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ยังเป็นของกรมการข้าว ยังไม่มีการมอบ โดยกรมการข้าว ยังรอผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างท่าอากาศยานพัทลุง

น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  คณะกรรมการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในสมัยนางนิศากร วิศิษฐ์สรอรรถ ดำรงตำแหน่ง ผวจ.พัทลุง ตนและผู้เกี่ยวข้องในทุกฝ่าย ได้ร่วมกันการขับเคลื่อนการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยจะใช้ที่ดินของราชพัสดุของศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุงต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง

ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 10 กิโลเมตร เนื้อที่ 1,496 ไร่ เป็นสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง และจะให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง เป็นพื้นที่ทดแทนให้กับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ในพื้นที่ประมาณ 510 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุเช่นเดียวกัน

และจากการที่กระทรวงคมนาคม ได้ตั้งงบประมาณให้กรมท่าอากาศยานไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ตั้งแต่ 17 กันยายน 2563-13 มิถุนายน 2564 เป็นจำนวน 270 วัน โดยกรมท่าอากาศยานได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเอกชนที่ปรึกษา ผลการสำรวจสรุปว่า หากมีการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง มีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) เท่ากับ 14.70 % งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,075 ล้านบาท ประมาณการผู้โดยสาร 214,129 คน / ปี

น.ส.สุพัชรี กล่าวอีกว่า หลังจากที่ตนได้ยื่นกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ก็ได้รับการชี้แจงจากนางมนพร เจริญศรี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าหลังจากที่ทางกระทรวงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงไปแล้ว


ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้จัดสรรงบประมาณในการสำรวจ ออกแบบท่าอากาศยานพัทลุงในปีงบประมาณ 2569 – 2570 เป็นเงิน 42 ล้านบาท โดยในปี 2569 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 8 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2571 ( ต.ค.2570) ก็จะนำเรื่องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขออนุมัติในการก่อสร้างท่าอากาศยานตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการก่อสร้างฯนั้นน่าจะเป็นรูปแบบของการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนมากกว่าการลงทุนของกรมท่าอากาศยาน

สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียงในส่วนของผู้โดยสารของท่าอากาศยานดังกล่าวนี้นอกเหนือจะเป็นชาวพัทลุงแล้ว ก็จะมีผู้โดยสารจาก อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มาใช้บริการด้วย เนื่องจากที่ตั้งของท่าอากาศยานพัทลุง เป็นจุดเชื่อมต่อให้ประชาชนในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา.