ร.ร.เมืองหลังสวน & ร.ร.บ้านเจริญสุข โรงเรียนต้นแบบโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม “คนดีรักษ์โลก”


เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม B1-1 (ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรชั้น B1) อาคารรัฐสภา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม “คนดีรักษ์โลก” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมกับ สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวคิดในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับจิตสำนึกในการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมของสังคมส่วนรวม
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และเปิดนิทรรศการ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราวุธ ตีระนันท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม , นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและประเพณี และศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานฯ
โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้เข้าร่วมกิจกรรมออกบูธจำนวนมากอาทิ เช่น ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) , กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ , กรมการศาสนา, กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) , สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย, การท่าเรือแห่งประเทศไทย,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สมาคมสื่อมวลชนพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมนานาชาต, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ดร.กษมาพร ชวาลิต ผู้อำนวยการผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน
โดยภายในงานนิทรรศการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม “คนดีรักษ์โลก” ผู้เขียนได้เดินชมบูธต่างๆกว่า 30 บูธ ซึ่งแต่ละบูธมีกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน ตลอดจนชมผลิตภัณฑ์กระเป๋า ภาชนะใส่ของ ซึ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้จากหลอด, ขวดพลาสติก , ถุงขนม, ถุงพลาสติก, จากเปลือกหอย ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับบูธที่ผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ร.ร.เมืองหลังสวนและ โรงเรียนบ้านเจริญสุข ซึ่งเป็นผลงานของเด็กนักเรียน นับเป็นการจุดประกายกิจกรรมรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ในโอกาสนี้ ผู้เขียนขอนำคำสัมภาษณ์อันเมีสาระสำคัญมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ ดังต่อไปนี้
โรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งอยู่เลขที่ 297 หมู่ที่ 4 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สังกัดกรมสามัญศึกษา ...ภายใต้การดูแลของดร.กษมาพร ชวาลิต ผู้อำนวยการผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน
ดร.กษมาพร ชวาลิต ผู้อำนวยการผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวนเปิดเผยว่า..โรงเรียนเมืองหลังสวน ขับเคลื่อนโรงเรียนด้วย “นวัตวิถีแห่งลุ่มน้ำหลังสวน” ซึ่งนำแนวคิด การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) มาเป็นแนวทางดำเนินการบริหารจัดการโรงเรียนตลอดจนกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมชุมชนและการสร้างคุณค่าเป็นฐาน (Community Innovation& Value – Based Learning) ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นจากวิถีปฏิบัติที่เป็นเลิศของครูโรงเรียนเมืองหลังสวน...ตลอด 3 ปีการศึกษา มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริงที่มีชุมชนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและเครือข่ายร่วมพัฒนา ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหา หรือพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ชัยยนต์ ศรีเชียงหา ครูชำนาญการพิเศษ
นายชัยยนต์ ศรีเชียงหา ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนเมืองหลังสวน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึง นวัตวิถีแห่งลุ่มน้ำหลังสวนอย่างน่าสนใจว่า “นวัตวิถีแห่งลุ่มน้ำหลังสวน” เกิดจาก ความมุ่งมั่นของโรงเรียนเมืองหลังสวน ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมผู้ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน เพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมต่อการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพสร้างพลเมืองที่ร่วมขับเคลื่อนสังคม โดยใช้การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในปี 2564...วิถีปฏิบัติกว่า 3 ปีการศึกษา (2565-2567) ควบคู่กับการวิจัยเกิดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ผู้บริหาร และคณะครูร่วมกันพัฒนาขึ้น ได้แก่ “The 5I2T of Community Innovation and Value-Based Learning” ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงความคิดขั้นสูง ในการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้พัฒนาชุมชนได้จริงอย่างยั่งยืน
โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรรายวิชานวัตวิถีแห่งลุ่มน้ำหลังสวน (SI) อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (STI) และกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา (Eco School) ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการสหวิชา องค์ความรู้ชุมชน สัมมาอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์เรียนรู้จากปรากฎการณ์ชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน เชื่อมโยงคุณค่า SDGs BCG และ SEP เกิดผลลัพธ์ของการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ชุมชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพาเยาวชนสู่การเป็นนักคิด นักพัฒนา และผู้สร้างพลเมืองรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมขับเคลื่อนชุมชนและประเทศชาติด้วยหัวใจแห่งนวัตกรรม เป็นต้นแบบในระดับชาติและเขตพื้นที่
ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนสูงขึ้น ผู้เรียนค้นพบความถนัดและความสนใจ มีทักษะที่จำเป็นในอนาคต มีผลงานโดดเด่่นที่เกิดจากการปฏิบัติทำให้ผู้เรียนร้อยละ 100 ผ่านการประเมินรอบแฟ้มสะสมผลงาน และเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาสูงขึ้นร้อยละ13 มีนวัตกรรมที่ทำงานได้จริงภายในโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนได้รับรางวัลนวัตกรรม วิจัยระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาครูนักออกแบบ และผู้อำนวยการเรียนรู้ที่เชี่ยวชาญ ชุมชนไว้วางใจคุณภาพ ทำให้โรงเรียนใน 4 ปีการศึกษา (2564-2568) มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 571 คน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่ควรมีเมล็ดพันธุ์ใด ต้องถูกคัดทิ้ง”
ในอนาคตจะต่อยอดอย่างไรบ้าง
ทางโรงเรียนมุ่งสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตวิถี อัจฉริยะเกษตรประณีต การทำเกษตรแบบอินทรีย์ในโรงเรียน ร่วมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่โรงเรียนเครือข่ายในระดับต่างๆ และผู้ที่สนใจ พร้อมการสร้าง Platform ระบบคลังฐานข้อมูลนวัตกรรมชุมชน จัดระบบคลังนวัตกรรม Portfolio
ผลงานนักเรียนที่นำไปใช้พัฒนาชุมชนได้จริง และส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดผลงานเป็นแบรนด์/ธุรกิจ
ชุมชน ที่เป็นผลงานนักเรียนจากการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับตลาดสีเขียว ตลาดวิถีใหม่ เช่น ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล (Facebook Page, Tiktok) เพื่อบูรณาการทักษะการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ (Youthpreneurship)
ผลงานและรางวัลที่ได้รับ
นายชัยยนต์ ศรีเชียงหา ได้รับรางวัลชนะเลิศ ครูผู้มีผลงานระดับดีเยี่ยม ศูนย์พัฒนาวิชาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษา จังหวัดชุมพร ประจำปีการศึกษา 2567
โรงเรียนเมืองหลังสวนผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนอีโคสคูล ระดับต้น (Eco - School Beginner ปี 2567-2570)
นักเรียนได้รับนางวัลเหรียญทอง ชนะเลิศ กิจกรรมการประกวดโครงงานอาชีพ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย “โครงงานเพาะกล้าฟาร์มผักสลัดออร์แกนิก” ในการเเข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567
ความภาคภูมิใจ
ด้านครูผู้สอน “รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นนักเรียนของเราค่อย ๆ เติบโตผ่านกระบวนการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ด้วยการฝึกคิด ลงมือทำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนกับวิถีชีวิตจริง วิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นเพียงบทเรียนในหนังสือ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร Plant-Based ที่มีคุณค่าทางสุขภาพและสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผู้เรียนได้รับโอกาส ได้รับความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง การเรียนรู้ที่มีความหมายจะเกิดขึ้นได้จริง
นักเรียนของเรา “ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้เพียงเรียนเพื่อสอบ แต่ได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจชีวิตเข้าใจสิ่งแวดล้อมเข้าใจชุมชน รู้จักการทำงานเป็นทีม การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทุกขั้นตอนคือการเติบโตที่แท้จริง ที่ไม่เพียงทำให้พวกเขาเรียนรู้โลก แต่ยังได้เรียนรู้คุณค่าของตนเองและสิ่งที่สามารถมอบให้กับผู้อื่นได้”
ผู้บริหารโรงเรียนเมืองหลังสวน “มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นต้นแบบของการจัดการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมชุมชนเป็นฐาน เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของครูและนักเรียนทุกคน และเรายึดมั่นในแนวคิดว่า "ไม่ควรมีเมล็ดพันธุ์ใดต้องถูกคัดทิ้ง" เพราะทุกคนล้วนมีคุณค่า และสามารถเบ่งบานได้หากมีพื้นที่ให้เติบโตโรงเรียนจึงไม่ใช่แค่สถานที่สอนหนังสือ แต่เป็นแหล่งสร้างนักคิด นักพัฒนา และพลเมืองรุ่นใหม่ที่รักบ้านเกิด ผู้เรียนที่เติบโตจากแปลงผักเพาะกล้าฟาร์ม สู่การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน คือบทพิสูจน์แห่งความสำเร็จของการเรียนรู้ที่มีชีวิต”
สำหรับด้านชุมชน พวกเขาคือผู้ร่วมเดินทางเคียงคู่กับโรงเรียน ได้เห็นเยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจรากเหง้าของตนเอง และร่วมสนับสนุน ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความรู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์และพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โรงเรียนและชุมชนจึงมิได้แยกขาดจากกัน แต่เป็นเครือข่ายของการเรียนรู้เพื่อความยั่งยืน ที่เติบโตไปด้วยกัน พร้อมขับเคลื่อนอนาคตของพื้นที่และชุมชนอย่างมีความหมายต่อไป
"ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนเมืองหลังสวนได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานจากหลักสูตรนวัตวิถีแห่งลุ่มน้ำหลังสวน โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต และโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา ผ่านเวทีนำเสนอทั้งในระดับจังหวัด เขตพื้นที่ และระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และบริบทชุมชนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้จริง โรงเรียนยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาในการเข้าศึกษาดูงาน ทั้งด้านหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อชุมชน ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืนและบทบาทของโรงเรียนในฐานะแหล่งเรียนรู้ต้นแบบระดับประเทศ”
โรงเรียนต้นแบบ “บ้านเจริญสุข”
โรงเรียนบ้านเจริญสุข เป็นร.ร.ขนาดเล็ก ได้เริ่มดำเนินการสอนมาตั้งแต่ปี 2501 โดยนายมานิตย์ เจริญมาก พร้อมคณะ ได้มอบที่ดินจำนวนเนื้อที่ 33 ไร่ 01.8 ตารางวา ในพื้นที่ม.4 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร มอบให้ทางราชการ ปัจจุบันในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปรถมศึกษา(สพป.)ระยอง เขต 2 จ.ระยอง โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมี นร.130 คน ภายใต้การนำของ นายวิษณุ กุณฑลบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียน
ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ผู้มากความสามารถได้เปิดวิสัยทัศน์ว่า โรงเรียนบ้านเจริญสุข เรามุ่งเน้นจัดการศึกษาให้นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา สภาพแวดล้อมน่าอยู่ ผู้เรียนมีทักษะชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี พัฒนาคนดีสู่สังคม..นอกจากนี้อัตลักษณ์โรงเรียนคือ “ยิ้มง่าย ไหว้สวย ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม”
ที่มาของการการรณรงค์เรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
"โรงเรียนบ้านเจริญสุขเป็นโรงเรียนเล็กๆโรงเรียนหนึ่ง ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เมื่อก่อนโรงเรียนบ้านเจรญสุขจะมีถังขยะอยู่หน้าโรงเรียน ซึ่งใช้ร่วมกับชาวบ้านในละแวกนั้น ในช่วงปี 2535 จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรเราจึงเอาเรื่องการจัดการขยะมาบูรณาการจัดการเรียนการสอนไปในตัวพร้อมกับส่งเสริมคุณลักษณะของนักเรียนได้ด้วยใช้เวลา 3 ปีในการจัดการขยะ โดยนำความรู้การบริหารจัดการขยะขยายจากไปสู่ชุมชน นับว่าเป็นการโชคดึ เรามีหมู่บ้านเอื้ออาทร ระยอง-วังหว้า เป็นชุมชนต้นแบบการกำจัดขยะระดับประเทศ ได้มาแนะนำวิธีการกำจัดขยะซึ่งขยะของเราจะไม่เยอะเท่ากับของชุมชน..เป็นขวดพลาสติก ขยะเปียกที่ได้จากโรงอาหารและขยะที่เป็นจุลินทรีย์
ตลอดจนโรงเรียนเรามีต้นไม้ค่อนข้างเยอะ..จึงมองว่า ชุมชนเรามีองค์กรต่างๆที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือแนะนำบริหารจัดการให้ เรามีการบริหารจัดการขยะในห้องเรียน ซึ่งแต่ละห้องเรียนจะมีถังขยะ 5 ประเภท ศึ่งแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างเส้นทางการกำจัดขยะได้แก่ฐานจุลินทรีย์ ได้แก่เปลือกผลไม้ เศษผัก มาทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ซึ่งให้เด็กลงมือปฏิบัติจริงๆ ที่เกิดจากปัญหาของโรงเรียน
ฐานถังดำรักษ์โลก ได้แก่ เศษอาหารกลางวันของนักเรียน ขยะเปียกเป็นปัญหาระดับชุมชนของอบต. วังหว้าโดยนำถังดำเฉพาะขยะเปียกวางไว้แต่ละระดับชั้น อย่างไรก็ตามเราได้รณรงค์ให้เด็กรับประทานอาหารให้หมดเป็นการฝึกนิสัยไปในตัว นอกจากนี้มีฐานปลอดสารพิษ, ฐานธนาคารขยะ และฐานปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง
"ขณะนี้เราขยายฐานการเรียนรู้ค่อนข้างใหญ่..ฐานที่โดดเด่นที่สุดคือ "ฐานธนาคารขยะ"
เราได้ขยายโดยการรับซื้อขยะบ้านของนักเรียนด้วย นับว่าเป็นการขยายสู่ชุมชนโดยรอบทั้งหมด...ล่าสุดทางโรงเรียนได้ทำ MOU ร่วมกับอบต.วังหว้า ,ชุมชนเอื้ออาทรระยองวังหว้า, บริษัท ระยอง พาเนลและวงษ์พาณิชย์
ปัจจุบันทางโรงเรียนสามารถช่วยอบต. บางหว้ากำจัดขยะได้เดือนละ 4,000 กิโล ...ทางอบต.วังหว้าได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องรถเก็บขยะ .. ส่วนทางวงศ์พานิชย์ได้ส่งเสริมรับซื้อขยะกับทางโรงเรียนโดยได้บวกเพิ่มให้กิโลกรัมละ 1 บาทเพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียน : นอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนจากปตท. ในการทำสมุดบัญชีทั้งหมด ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะมีสมุดบัญชีของนักเรียนแต่ละคน เวลาเขาขายได้ก็จะจดลงสมุดบัญชี..
โดยผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนแปลงของที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแปลงเป็นเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียน..นอกจากนี้ทางปตท.ได้สนับสนุนด้านงบประมาณและอบรมให้ความรู้เรื่องของการวัดคาร์บอนเครดิตของต้นไม้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเจริญสุขมีหน่วยงานมาขอศึกษาดูงานเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีประมาณ 68 คณะ
จากภาพ
-กิจกรรมลด ละเลิก ใช้ถุงพลาสติก โดยทีมสภานักเรียน และแกนนำเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับชุมชน
-รับป้ายห้องศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอแกลงจังหวัดระยอง ขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดระยอง
-โครงการเสริมสร้างทักษะเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง
-กิจกรรมค่ายเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม1 ต้นไม้ 1 ความรู้สู่ด้านเครดิตของชุมชน
-อบรมการคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้เข้าสู่โครงการ Less
รางวัลที่ภาคภูมิใจ
-HERO WEST.. ผ่านการคัดเลือกจากร้อยโรงเรียนทั่วประเทศ นับเป็นรางวัลที่เราภาคภูมิใจที่สุดเราสามารถนำเสนอผลงานเข้าสู่ระดับนานาชาติ 1ใน 5 ของอาเซียน นี่คือผลสำเร็จที่เราดำเนินการ
-รางวัลทักษะชีวิตของสพฐ. ระดับ 3 ดาว (ประเภทสถานศึกษาผู้บริหารและครู) ซึ่งมีน้อยโรงเรียนมากที่นำทักษะชีวิตมาใช้
-รับรางวัล อีโคสคูล ระดับต้น แหล่งเรียนรู้ต้นแบบระดับประเทศ
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอชื่นชมร.ร.เมืองหลังสวนและโรงเรียนบ้านเจริญสุข โรงเรียนต้นแบบ ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกของเราอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมด้วยความเพียรพยายาม สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับสังคม เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกรักโลกให้กับเยาวชนต่อไปอย่างยั่งยืน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาจากคำสัมภาษณ์จะจุดประกายต่อยอดแนวคิด เป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านและหน่วยงานของท่านไม่มากก็น้อย
โดย.. วิชชุดา ทองสุทธิ์