“เกษตรกร”กลุ่มอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองอ.กุดชุม คว้ารางวัลรวมข้าว 120 สายพันธุ์

“เกษตรกร”กลุ่มอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองอ.กุดชุม คว้ารางวัลรวมข้าว 120 สายพันธุ์





Image
ad1

“ข้าว” ที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์  แต่ละสายพันธุ์ที่ปลูกตามท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ จะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมดิน ฟ้า อากาศ ที่มีความเหมาะสมแค่ไหน แต่ที่น่าภาคภูมิใจคนไทยยุคนี้ต่างร่วมกันอนุรักษ์เพาะพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกตกทอดให้ชนรุ่นหลังได้หันมารับประทานข้าวพันธุ์ดีๆกัน

ประกอบกับองค์กรภาครัฐ อย่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวในแต่ละท้องถิ่นมากมาย ซึ่งในอดีตมีการเก็บคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวทั่วประเทศพบว่ามีกว่า 4,000 กว่าสายพันธุ์ ซึ่งข้าวบางพันธุ์อาจสูญหายไปบ้างตามยุคสมัย เนื่องจากขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง  

ล่าสุดมีการจัดการประกวดมอบรางวัลให้เกษตรกรไทยแห่งปี 2567 เพื่อเชิดชูผู้ปลูกข้าว ในส่วนกลุ่มอนุรักษ์และพันธุ์กรรมข้าวพื้นเมือง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดสกลนครคว้ารางวัลไป  

ดาวเรือง พืชผล หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม กล่าวว่าปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวที่เก็บรักษา ได้ค้นหามาทั้งในท้องถิ่นและต่างอำเภอ รวบรวม 120 สายพันธุ์  ซึ่งล้วนเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ทั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรต่อไป ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ได้ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐก่อน เพื่อยืนยันว่า เป็นข้าวสายพันธุ์แท้ หลังจากนี้ทางกลุ่มจะต้องเร่งทำ 3 ภารกิจ คือรวบรวม รักษา และขยายพันธุ์ต่อไป     

“ข้าวพื้นเมืองในแต่ละถิ่นมีมากมาย นับแต่สมัยโบราณที่บรรพบุรุษได้นำข้าวมาเพาะปลูก บางพันธุ์อาจสูญหายไปบ้าง แต่ถ้าวันนี้เราไม่ร่วมกันอนุรักษ์ข้าวไทย คนรุ่นหลังจะไม่รู้จักพันธุ์ข้าวดีๆจากท้องถิ่น เราเริ่มดำเนินการหาพันธุ์ข้าวมาตั้งแต่ปี 48จนถึงวันนี้รวบรวมได้ร้อยกว่าสายพันธุ์แล้ว ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นข้าวพื้นเมืองทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า” ดาวเรืองกล่าว 
     
วิธีการรวบรวมพันธุ์ข้าว จะใช้วิธีให้สมาชิกในกลุ่มไปหาพันธุ์ข้าวกันมานำเสนอ ใช้เครือข่ายไปตามท้องถิ่นในภาคอีสานเป็นหลัก อย่างข้างบางสายพันธุ์ยุคนี้ การเพาะปลูกค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเจอสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งร้อนจัด และน้ำท่วม อาจทำให้ไม่คงทนต่อสภาพแวดล้อมลักษณะนี้  

แต่ยังมีข้าวบางพันธุ์อายุยืนมาก ซึ่งพอได้พันธุ์ข้าวมา ต้องคัดเลือกไม่ให้ไปเจือปนสายพันธุ์อื่นๆร่วมอยู่ด้วย จากนั้นไปหาข้อมูลมาเปรียบเทียบ ว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่มไปดูฐานข้อมูล ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยข้าว จ.ปทุมธานีมาเป็นเกณฑ์      
     
ส่วนพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หายากยุคนี้ “ข้าวดอดอกติ้ว” จากจ.ยโสธร ส่วนข้าวพันธุ์ที่นิยมกันข้าวหอมมะลิ 105คนไทยและต่างชาติชอบทานกันมาก  สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในแถบอ.กุดชุม ยังต้องพึ่งพาน้ำฝนในการทำนา ลักษณะพื้นที่ราบเรียบ  ซึ่งปีนี้การทำนาข้าวค่อนข้างได้ผลตอบรับดี ขายได้ราคาที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา