คนสู้ชีวิต'ลุงอ้วน' เดินเท้าเปล่าเข้าป่าขุดมันลึกเกือบ 3 ม.ขายเลี้ยงครอบครัว

คนสู้ชีวิต'ลุงอ้วน' เดินเท้าเปล่าเข้าป่าขุดมันลึกเกือบ 3 ม.ขายเลี้ยงครอบครัว





ad1

ใช้เวลาว่างหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี "ลุงอ่วม ส่องกระโทก" วัย 74 ปี ชาวบ้านมาบกราด ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ตระเวนออกหาขุดมันในพื้นที่ป่ามาประกอบอาหาร ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมตามชุมชนใกล้หมู่บ้านเพื่อจุนเจือครอบครัว 

มันป่าที่ว่านี้ ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า “มันเหลี่ยม”มีลักษณะลำต้นเป็นเครือ เลื้อยคดเคี้ยวเกาะต้นไม้อื่นทั่วไป  และเครือส่วนที่เป็นลำต้น จะมีลักษณะเป็นเหลี่ยม จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “มันเหลี่ยม”  ส่วนหัวของมันจะเป็นท่อนยาว มีขน ฝังตัวอยู่ใต้ดินในแนวดิ่งลึก   เกิดขึ้นได้ตามป่าทั่วไป  

แต่การขุดหัวมันชนิดนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะจะต้องขุดตามแนวเครือที่ลึกลงไปใต้ดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร  อย่างต้นที่กำลังขุดอยู่นี้ต้องขุดลึกลงไปเกือบ 3 เมตร จึงจะนำหัวมันขึ้นมาได้ทั้งหมด  และลุงอ่วมฯ  ตัองใช้เวลาขุดหัวมันเหลี่ยมหัวนี้ นานกว่า 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว  ซึ่งช่วงแรกต้องขุดหลุมให้กว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อทำเป็นจุดพักในขณะที่ขุดลงไปได้ระดับหนึ่ง  เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถขุดต่อไปได้

ลุงอ่วม  บอกว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว หลังจากสิ้นการเกี่ยวข้าวแล้ว ตนจะอาศัยเวลาว่างออกไปหาขุดมันเหลี่ยมนำมาประกอบอาหาร  ซึ่งมันชนิดนี้สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาวและหวาน โดยอาหารคาวส่วนใหญ่จะทำเป็นแกงป่าปลาย่างหรือปลาป่น  ส่วนของหวานก็จะเป็นมันบวชกะทิ  หากขุดหาได้มากก็จะนำไปขายในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกปี  

แม้จะต้องใช้เวลาขุดค่อนข้างนาน เสียแรงไปเยอะ แต่ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายและใช้เวลาว่างไปในตัว  แม้ค่าตอบแทนที่ได้จะไม่มากนัก แต่เพียงพอแล้วสำหรับคนสูงอายุที่ว่างงาน ซึ่งปีนี้ตนหามันเหลี่ยมได้เกือบ 100 กิโลแล้ว ได้เงินเก็บเกือบ 4 พันบาท ซึ่งตนทำแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ

ส่วนวิธีการนำมันเหลี่ยมมาปรุงอาหาร อาจจะยุ่งยากตอนปอกเปลือกเล็กน้อย เนื่องจากระหว่างเปลือกกับเนื้มันจะเป็นเมือกลื่น หากจะให้สะดวก ควรจะนำมานึ่งเพื่อให้มันคายเมือกออกก่อน  สำหรับรสชาติของมันเหลี่ยมจะมีรสชาติคล้ายกับมันเทศ แต่เนื้อสัมผัสจะเหนียวหนึบกว่า  ทุกวันนี้หารับประทานได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าจะยังมีพบเห็นได้ทั่วไป แต่เพราะการขุดหาที่ค่อนข้างลำบาก ต้องใช้แรงและเวลาเยอะมาก จึงทำให้แทบจะไม่เห็นเมนูนี้ได้ที่ไหนแล้ว 

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา