ชวนรู้จัก ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร "ตึกแฝดพี่-น้อง" เมืองพระตะบอง-เมืองปราจีนบุรี

ชวนรู้จัก ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร "ตึกแฝดพี่-น้อง" เมืองพระตะบอง-เมืองปราจีนบุรี





ad1

จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ IG ในบัญชีรายชื่อ tim_pita เป็นภาพตึกเก่าสไตล์ยุโรป พร้อมข้อความภาษาไทยระบุว่า “บ้านเก่าคุณยาย” มาตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปี พ.ศ.2558 (ก่อนจะลบทิ้งในภายหลัง ในเดือน ก.พ.2567)

ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี ได้รวบรวมข้อมูล “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง” และ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี” ซึ่งถูกยกให้เป็นตึกแฝดพี่-น้องกัน ที่ทั้ง 2 แห่ง ก่อสร้างโดย “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ผู้ได้รับการยกย่องจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง

มาดูข้อมูลตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี โดยสรุปเป็นเบื้องต้น โดยเฉพาะห้วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือ เทศกาลแห่งความรักนี้ คู่รัก-บ่าวสาว มักนิยมพากันมาเซลฟี่ถ่ายภาพ โดยตึกที่สวยงามสถาปัตยกรรมแบบยุโรปยุคแรกของตึก สร้างมาจากความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อถวายเป็นที่ประทับสำหรับพระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) หากเสด็จมาประพาสเมืองปราจีนบุรี โดยเจ้าของไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ เพื่อเป็นที่พักแต่อย่างใดเลย

ประวัติความเป็นมา บันทึกกว่า ในปี พ.ศ.2452 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ถูกสร้างขึ้นจากความจงรักภักดี ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ด้วยประสงค์จะใช้เป็นที่ประทับ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี แต่สวรรคตเสียก่อน

ตึกหลังนี้จึงได้รับใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาเป็นของพระยา อภัยวงศ์วรเชษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) ต่อมาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นหลานของพระยาอภัยวงศ์วรเชษฐ ได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งเหล่านี้

จึงได้ประทานตึกหลังนี้แก่มณฑลทหารบกที่ 2 ตั้งเป็นสถานพยาบาล และต่อมาทางจังหวัดปราจีนบุรีขอโอนมาเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509

เพื่อเกียรติแห่งคุณความดี ของท่านผู้เป็นเจ้าของ หลังจากที่โรงพยาบาลได้รับงบประมาณสิ่งก่อสร้างเป็นอาคารผู้ป่วย ตึกหลังนี้จึงมิได้ใช้เป็นสถานที่บริการผู้ป่วย ได้รับการอนุรักษ์ไว้นับแต่นั้นเป็นต้นมาและได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ได้มีการปรับปรุงทั้งด้าน โครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัย มีการจัดหาและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพบริการตั้งแต่ปี 2539 มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งผ่านการรับรองในปี 2553 ปัจจุบันโรงพยาบาลมีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 65 ไร่ 1 งาน 11.52 ตารางวา มีเตียงรับผู้ป่วยจำนวน 505 เตียง

อนึ่งบนรายละเอียด ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นงานสถาปัตกรรมยุโรปยุคบาโรก ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทโฮวาร์เออร์สกิน เป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องลอนเล็ก กลางหลังคาสร้างเป็นรูปโดม เหนือยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางรูปไก่ทำด้วยโลหะ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา และมีระเบียงดาดฟ้า

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตึกของโรงพยาบาลที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

ภายนอกและภายในอาคารมีลวดลายปูนปั้นฝีมือประณีตบรรจงประดับอยู่ทั่วไป รวมถึงมีการทำช่องลมเป็นแผ่นไม้ฉลุลายอย่างสวยงาม ขณะที่วัสดุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กลอนประตู หน้าต่าง กระจกสี กระเบื้องปูพื้น ล้วนสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีรูปเคารพปูนปั้น (ฝีมือช่างพื้นบ้าน) ปั้นเป็นรูปท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยืนตรงเด่นเป็นสง่าให้ผู้ที่ผ่านไป-มา ได้ทำความเคารพ สักการะ ท่ามกลางต้นปาล์มสูง 2 ต้นที่ขึ้นขนาบข้าง

ลวดลายปูนปั้นประดับด้านนอกตึกด้วยความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำให้ตึกสไตล์ยุโรปโบราณหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2542]

ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ปราจีนบุรี โดยดำรงฐานะเป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่และสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยได้แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลัก ๆ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องท้องพระโรง ห้องยาไทย ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร และร้านขายยาไทย เป็นต้น

ในส่วนข้อมูล ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ตั้งในพื้นที่ย่านอาคารราชการดั้งเดิมของเมืองพะตะบอง จากข้อมูลประวัติการสร้างตึกหลังนี้ที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นของพระตะบองระบุว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” ท่านสร้างตึกหลังนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2447 (บ้างก็ว่าสร้างในปี 2448)

ตึกหลังนี้ว่าจ้างช่างชาวอิตาลีมาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง มีลักษณะเป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น หันหน้าออกถนน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปยุคบาโรก (Baroque : ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 17) ตัวอาคารมีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงามทั่วบริเวณ

เส้นสาย ลวดลายปูนปั้นประดับของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง

ตึกหลังนี้เคยถูกใช้เป็นศาลากลางของเมืองพระตะบองมาช่วงระยะเวลหนึ่ง แต่เมื่อมีการสร้างศาลากลางหลังใหม่ ตึกหลังนี้ได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา

กระทั่งเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรปราสาทในเขตเมืองพระตะบอง พระองค์ท่านได้ไปเสวยพระกระยาหารที่ตึกหลังนี้ ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกและรั่วลงมา พระองค์ท่านจึงพระราชทุนทรัพย์ในการบูรณะให้ 1 ล้านบาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะให้กลับคืนสู่ความสวยงามดังเดิม

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง หรือตึกแฝดพี่ สร้างขึ้นก่อนเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ทว่า…ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าพำนักในตึกหลังนี้เลย เพราะจวนหลังนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จ ท่านชุ่ม ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องพลัดพรากจากเมืองพระตะบองที่วงศ์ตระกูลตั้งรกรากมากว่า 100 ปี เข้าสู่แผ่นดินสยาม พร้อมกับวีรกรรมแห่งความจงรักภักดีที่ต่อมาท่านได้ถูกยกย่องให้เป็น “เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม”

ลวดลายรูปช้างที่ประดับอยู่ด้านบนของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง

บนความสัมพันธ์ที่ผู้คนเรียกขานกันนั้น ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี กับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ถูกยกให้เป็น “ตึกแฝดพี่” ของ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี”