“หมูเถื่อน” ปราบไม่หมด ทุกข์หนักของเกษตรกร

“หมูเถื่อน” ปราบไม่หมด ทุกข์หนักของเกษตรกร





ad1

“หมูเถื่อน” ปราบปรามมาราธอนมาเกินกว่า 2 ปี แต่ยังไม่หมด ยังมีอยู่และยังมีต่อไป ขณะที่คดีต้องเปลี่ยนมือโดยกรมศุลกากร ส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หวังผลการสืบสวน-สอบสวนเชิงลึก และสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ กระชากหน้ากาก “ผู้บงการ” ตัวจริงมาลงโทษให้สมกับความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ ทำลายห่วงโซ่การผลิตและกลไกราคาของ “หมูไทย”

 ถึงวันนี้ ต้องแยกคดีหมูเถื่อนให้สังคมเห็นกันชัดๆ 2 ส่วนหลัก คือ 1. คดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ของกลางน้ำหนักรวม 4,500 ตัน ขณะนี้สอบสวนได้ผู้ที่อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดี 18 บริษัท ออกหมายจับแล้ว 10 บริษัท และจับนายทุน 2 คน และ 2. คือ หมูเถื่อนที่สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็งและโพลิเมอร์ ถูกขนย้ายออกจากท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 2,385 ใบขน น้ำหนักมากกว่า 60,000 ตัน ขณะนี้ยังคงซุกซ่อนอยู่ในห้องเย็นทั่วประเทศ และทยอยระบายออกมาสวมรอยเป็นหมูไทยแทรกแซงตลาดตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาปริมาณเกินความต้องการ (Over Supply) บิดเบือนกลไกตลาด กดราคาหมูไทยจนตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหลายเดือน แต่ความผิดในส่วนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตั้งไข่ เพราะกรมศุลกากรเพิ่งส่งเอกสารนำเข้าให้ DSI เมื่อไม่นานมานี้ คงต้องสอบสวนกันยาวไป เนื่องจาก DSI เสียเวลาเบนเข็มไปทำคดีสวมสิทธิ์ตีนไก่ 10,000 ตู้ เกือบ 1 เดือน

ทั้งนี้ หมูเถื่อนของกลางที่จับกุมได้ระหว่างปี 2565-ปัจจุบัน น้ำหนักมากกว่า 75,000 ตัน (75 ล้านกิโลกรัม)  ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่ราคาเฉลี่ยหมูมีชีวิตตกต่ำสุดเมื่อตุลาคม 2565 ที่ 56-58 บาทต่อกิโลกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ในแนวต่ำกว่าต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 อยู่ที่ 74-76 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาที่เกษตรกรตั้งเป้าหมายไว้คือ 80-82 บาทต่อกิโลกรัม ก็หวังว่าการจับกุมหมูเถื่อนจะลดปริมาณเนื้อหมูที่ออกสู่ตลาดได้ ราคาก็จะกลับเข้าสู่สมดุล

 ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงหมูต้องแบกภาระสำคัญ 2 ด้าน คือ 1. การฟื้นฟูผลผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ หลัง โรคระบาด ASF ในปี 2565 ทำให้หมูขุนและแม่พันธุ์สุกรหายไปกว่า 50% ซึ่งเป็นชนวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน-หมูถูกจากต่างประเทศ มาฉวยโอกาสทำกำไรช่วงหมูไทยไม่เพียงพอ ทั้งยังเป็นการกดราคาหมูไทยทำให้ผู้เลี้ยงต้องการขาดทุนนานกว่า 10 เดือน 2. ต้นทุนการผลิตสูง สาเหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง พลังงานและปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% แม้ปัจจุบันราคาจะปรับลดลงก็ตามแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสงคราม ขณะที่สงครามยังยื้ดเยื้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและภาคการผลิต

หลังเดือนพฤษภาคม 2566 รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สั่งการตรงไปยังผู้บริหารสูงสุดของ DSI ทำให้คดีหมูเถื่อนที่อืดอาดยืดยาดมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องติดตามการสอบสวนตัวผู้กระทำผิดทั้งบริษัทชิปปิ้งหรือบริษัทนำเข้า ห้องเย็น จนถึงตัวบุคคล ที่มีการเปิดชื่อแล้ว เป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น ขณะที่ “ตัวการใหญ่” ยังไม่มีการเผยโฉมให้สังคมได้รับรู้ มีเพียงลมปากอ้างอิง นายทุน นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ล่าสุด DSI ประกาศจะนำตัวคนผิดขาใหญ่มาเผยโฉมต่อสังคมให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 ถึงจุดนี้ รัฐบาลต้องวางนโยบายยกระดับราคาหมูไทยให้สอดคล้องกับโครงสร้างต้นทุนการผลิต ให้ผู้เลี้ยงอยู่ได้ ผู้บริโภคจ่ายคล่อง สร้างกลไกตลาดที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการลดภาระขาดทุนของเกษตรกรถือเป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น การยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ยังติดปัญหาโควต้าและภาษีนำเข้า ทั้งที่ผลผลิตในประเทศขาดแคลนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว เพราะไม่มีกิจการใดที่สามารถแบกขาดทุนได้เป็นเวลานาน ที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน หากเกษตรกรเลิกอาชีพ ผลผลิตจะไม่เพียงพอและดันราคาให้สูงขึ้น

 “หมูเถื่อน” จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุดโดยเร็ว และเร่งวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างเสถียรภาพราคา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการแข่งขันกับเนื้อสัตว์จากต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าไทยมากได้ สร้างกลไกตลาดที่เข้มแข็งเป็นตัวช่วยปราบปรามหมูเถื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ.

 โดย...แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ