"นราพัฒน์" ผช.รมต.เกษตร พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำพื้นที่ 3 อำเภอพิจิตร

"นราพัฒน์" ผช.รมต.เกษตร พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำพื้นที่ 3 อำเภอพิจิตร





ad1

วันที่ 29  ธันวาคม 2565  นายนราพัฒน์   แก้วทอง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เป็นประธานในการประชุมเพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ที่ห้องประชุม อบต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยมี นายธรรมนูญ  แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร ,  นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร , นายสามารถ  เดชบุญ เกษตรจังหวัดพิจิตร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร สนง.ชป.ที่ 3 และ ที่ 10 รวมถึงนายอำเภอวังทรายพูน , นายก อบต. ในพื้นที่ อ.วังทรายพูน – อ.ทับคล้อ – อ.วังโป่ง รวมแล้วกว่า 60 ท่าน ที่ร่วมพูดคุยเสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพิจิตร ซึ่งได้แก่เขตพื้นที่ อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน อ.ทับคล้อ

โดย นายนราพัฒน์   แก้วทอง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวให้สัมภาษณ์และสรุปว่า การประชุมครั้งนี้พูดคุยกันถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพิจิตร ซึ่งได้แก่เขตพื้นที่ อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน อ.ทับคล้อ ไม่มีระบบชลประทานจึงจ้องอาศัยรับน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำที่มาจากคลองวังโป่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะมีมวลน้ำจำนวนมากไหลบ่า ไหลแรง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.ทับคล้อ  อ.ดงเจริญ ของ จ.พิจิตร

นายนราพัฒน์   แก้วทอง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของอำเภอวังทรายพูนเมื่อถึงหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำจึงทำให้ชาวบ้านและ นายก อบต.หนองพระ จึงเกิดแนวคิดจากการไปสำรวจเส้นทางน้ำแล้วว่าถ้าเราสามารถที่จะมีประตูก็สามารถจะผันน้ำจาก ต.ท้ายดง  อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ มายัง ต.หนองพระ อ.วังทรายพูนได้ ซึ่งก็จะทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากมวลน้ำในฤดูน้ำหลากเพื่อเก็บไว้ในแก้มลิงที่จะส่งผลให้ช่วยบรรเทาไม่ให้น้ำไปท่วม อ.ทับคล้อ หากมีการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบดังกล่าวนี้ปัญหาน้ำแล้งของ ต.หนองพระ และน้ำท่วมของ อ.ทับคล้อ ก็น่าจะหมดไป

ในส่วนของด้านแถบ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ก็ควรจะต้องมีประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำและระบายน้ำที่มีระบบควบคุมคอนโทรลน้ำให้ไหลมาทาง อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ได้อีกด้วย ดังนั้นทั้งสองจุดดังกล่าวที่ผู้นำชุมชนและชลประทานมาพิจารณาร่วมกัน โดยมีสำนักชลประทานที่ 10 และ สำนักชลประทานที่ 3 มาเป็นพี่เลี้ยงในครั้งนี้จะต้องบูรณาการร่วมกันเสนอโครงการซึ่งตอนนี้มีการเสนอโครงการมาแล้ว 2 รายการ  คือ ฝายบ้านท่าข้าม พร้อมประตูระบายน้ำที่ ต.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และที่อาคารบังคับน้ำคลองคต ต.วังโพรง อ.นินมะปราง จ.พิษณุโลก

ซึ่งถ้าทั้งสองโครงการนี้ได้รับการดำเนินการก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพิจิตรได้เป็นอย่างดี ซึ่งความเป็นไปได้ต้องเกิดจากเจ้าของพื้นที่ไปสำรวจและพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการถ้าไม่ติดขัดเรื่องพื้นที่ก่อสร้างยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ก็จะให้เร่งดำเนินการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภายใน 1-2 ปี  นั่นคือในปี 66/67 นั่นเอง

สิทธิพจน์  เกบุ้ย จังหวัดพิจิตร