3 ปี คดีหมูเถื่อนยังไร้บทสรุป ขบวนการนำเข้าเถื่อนเสี่ยงฟื้นตัวรอบสอง

3 ปี คดีหมูเถื่อนยังไร้บทสรุป ขบวนการนำเข้าเถื่อนเสี่ยงฟื้นตัวรอบสอง





Image
ad1

2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าสุกรแช่แข็งที่รู้จักกันในนาม "หมูเถื่อน" จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศในราคาต่ำกว่าทุน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาหมูไทยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของโรค ASF (African Swine Fever) ที่ทำให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงอย่างฉับพลัน

มาวันนี้ แม้รัฐบาลจะล้มเลิกการนำเข้าหมูจากอเมริกาแล้วก็ตาม แต่ผู้เลี้ยงหมูเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการขาดทุนสะสมมาหลายปี และที่น่ากังวลที่สุดคือ ความเป็นไปได้ของวิกฤต "หมูเถื่อนรอบสอง" ที่อาจก่อตัวขึ้นได้ เนื่องจากราคาหมูในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง จากปริมาณอุปทานที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ความต่างของราคาระหว่างไทยกับต่างประเทศ จะเป็นแรงจูงใจให้ขบวนการลักลอบนำเข้าเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ย้อนกลับไปปี 2565 จุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีหมูเถื่อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยคือ การจับกุมหมูเถื่อนที่ห้องเย็นนาสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ได้ของกลางจำนวน 110 ตัน เมื่อ 7 ต.ค.65 ซึ่งผู้ต้องหารับสารภาพว่าขนมาจากท่าเรือแหลมฉบังและนำไปสู่การกดดันของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เรียกร้องให้มีการเปิดตู้ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อ 20 เมษายน 2566 จนพบว่ามีตู้สินค้าหมูเถื่อนตกค้างอยู่ที่ท่าเรือดังกล่าวจำนวน 161 ตู้ น้ำหนักรวม 4,500 ตัน มีการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการนำเข้า 18 ราย และได้ขยายผลไปถึงการสั่งสินค้าหมูเถื่อนเข้ามาในช่วงปี 2564 -2566 จำนวน 2,385 ใบขน (สินค้า) แล้วนำออกไปสู่ห้องเย็นแล้วมากกว่า 76,000 ตัน 

ทั้งคดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ และคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขนสินค้า เป็นคดีต้นๆ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับไม้ต่อเป็นคดีพิเศษมาจากกรมศุลกากรตั้งแต่ปี 2565 แต่จนถึงวันนี้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมเพียงน้อยนิด โดยเฉพาะคดี 2,385 ใบขน มีการขออนุมัติสอบสวนเป็นคดีนอกราชอาณาจักร มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ (MLAT) โดยมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนทั้งอัยการ และ DSIได้เดินทางไปสอบสวนผู้ผลิตสินค้าในยุโรปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่สามารถเอาผิดกับนายทุน หรือห้องเย็นที่รับสินค้าไว้ตาม พรบ.มาตรการการฟอกเงินได้ และหากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีด้วยความรวดเร็วรัดกุม ก็จะสามารถสาวไปถึงนายทุนตัวการที่อยู่เบื้องหลัง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้  

ล่าสุดมีรายงานว่าคดีนี้จำเป็นต้อง "เริ่มต้นสอบสวนใหม่" โดยการเรียกสอบปากคำบริษัทชิปปิ้งในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย คำถามสำคัญคือ เหตุใดการสอบสวนจึงย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ทั้งที่มีพยานหลักฐานจำนวนมากจากการสืบสวนและตรวจยึดช่วงที่ผ่านมาอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นนายทุน (ผู้ต้องหา) เส้นทางการเงิน เส้นทางการขนส่ง การกระจายหมูเถื่อนเข้าสู่ตลาดหลักต่างๆ หรือแม้แต่ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่นำเข้า การดำเนินคดีควรจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ หากไม่ติดอุปสรรคเชิงระบบหรืออำนาจมืดเหนือการควบคุม

ขณะที่ DSI ยังมีภารกิจเร่งด่วนดูแลคดีใหญ่ระดับประเทศหลายคดี โดยเฉพาะล่าสุดคดีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพังถล่ม ซึ่งอาจกลายเป็นเหตุผลให้คดีหมูเถื่อนถูกเลื่อนลำดับความสำคัญเป็นอันดับรอง ยิ่งตอกย้ำว่าปัญหาหมูเถื่อนอาจยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ ในเร็ววัน

แต่ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้หยุดยั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย ที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกับหมูเถื่อนราคาต่ำ ที่ยังคงมีโอกาสเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยได้ตลอดเวลาในช่วงที่ราคาปรับขึ้น ซึ่งยังไร้การจัดการที่เด็ดขาด

วันนี้เราไม่ได้แค่รอความคืบหน้าของคดีเท่านั้น แต่เรารอความยุติธรรมให้เกิดขึ้นเพื่อปกป้องเกษตรกรไทย และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศชาติ คดีหมูเถื่อนไม่ควรเป็นเพียงข่าวที่ค้างอยู่ในแฟ้มเอกสารของ DSI แต่ควรเป็นบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามขบวนการทุจริต และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการที่สุจริตอย่างแท้จริง

โดย...อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ