ชาวสวนโอด“ยาง” ร่วงเหลือ 48 -50 บาท / กก. จากเกือบ 70 บาท / กก.


“ยาง” อ่วม ร่วงเหลือ 48 -50 บาท / กก. จากเกือบ 70 บาท / กก. ระบุ ส่งออกสัญญาเก่ายังราคาเดิม ชาวสวนยางทั่วประเทศ “เต้น” ยกร่างหนังสือขอความเป็นธรรมถึง รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตร คณะกรรมการกลางควบคุมราคาสินค้า กรมสรรพากร
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 คนกรีดยางรับจ้างหมู่ 7 บ้านควนอินนอโม เขตเทศบาลตำบลเขาหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพารา จากราคายางที่เคยเคลื่อนไหวในระดับเกือบ 68 67 65 64 บาท / กก. มาระยะหนึ่ง แต่มาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ราคาได้ปรับตัวลงประมาณ 10 บาท / กก. และราคาทยอยลงมาถึงวันนี้ (15 เม.ย.68) อยู่ที่บางลานรับซื้อน้ำสด ประมาณ 48 บาท / กก. และบางลานรับซื้อน้ำยางสด 50 บาท / กก. ซึ่งแต่ละลานรับซื้อน้ำยางสดจะแตกต่างกัน
“ชาวสวนยางต่างตกใจกันมากเกี่ยวกับราคาลงมาสูงมาก และในขณะที่ยางไม่ค่อยได้กรีดอย่างเต็มที่ เพราะน้ำยางสดยังมีปริมาณน้อยมาก”
นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ยางราคาได้ปรับตัวลงในวันที่ 8 เมษายน 2568 วันเดียว 12 บาท / กก. โดยปรับตัวลงทุกตัวตั้งแต่นยางรมควัน น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย เศษยาง เฉลี่ยแล้ว 10 บาท / กก.
“ตลาดกลางยางมีการประมูลซื้อขายที่ตลาดกลางหาดใหญ่ จ.สงขลา ตลาดกลาง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะสถาบันเกษตรกรยางและชาวสวนยางจะประสบกับขาดทุนและรายได้ลดลงเป็นจำนวนมาก”
และยางยังได้ปรับตัวลงมาจนถึงขณะนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 เป็นเวลา 7 วัน เป็นเงินที่ชาวสวนยางจะต้องสูญหายไปเป็นจำนวนมาก
แต่ในขณะที่ตลาดโลกยังมีความต้องการยางมากและการซื้อขายส่งออกต่างประเทศราคายางก็ยังเป็นสัญญาเก่าที่ส่งมอบกันในระยะนี้ ดังนั้นทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการป้องกันเรื่องยาง โดยต้องมีโครงการการชะลอการขายยางไปก่อนโดยการสร้างสต๊อกแก้มลิงยางเอาไว้ก่อน ออกขายเมื่อราคาได้ปรับตัวที่เหมาะสม สำหรับชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรยางจะไม่มีโอกาสจะได้สต๊อกเก็บยางไว้ เพราะการใช้สถานที่เก็บสต๊อกยางจะต้องมีทุนและการลงทุนเป็นจำนวนมาก
“ทางรัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมยาง 2542 ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาดำเนินการอย่างเร่งด่วน”
นายประยูรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในการปรับตัวของราคายางวูบวาบ 10 บาท / กก. ก็เคยขึ้นมาก่อนเหมือนกันในอดีตโดยเอาเงื่อนไข เช่น โรงงานอุตสาหกรรมยางปิดในช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น และยังมีเงื่อนไขต่าง ๆ อีกมากที่ส่งผลให้ราคายางต้องปรับตัวลง แต่การปรับตัวถึง 10 -12 บาท / กก.เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 คงจะเป็นเงื่อนไขเรื่องเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัล ทรัมป์.
แหล่งข่าวจากวงการยางพารา เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ประกาศขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ไปทั่วโลก ได้มีบางกลุ่มได้ออกแบบรองรับไว้ก่อนแล้ว เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ภาษีศุลกากรกรก็นำเอาเงื่อนไขมาทำราคาได้ โดยเฉพาะยางพาราในระยะ 7 วัน จะเกิดมีส่วนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
“ต้องยอมรับเช่นกันว่า กลุ่มการค้าก็ต้องมีความกังวลเรื่องของความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง ซึ่งต่างก็อาจจะเกิดความเสี่ยงได้เช่นกันหากซื้อมาในราคาที่สูงแล้วขายออกในราคาที่ต่ำ”
นายประยูรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทางเครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศ ยังได้ยกร่างหนังสือขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับราคารับซื้อยางพารา ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อธิบดีกรมสรรพากร ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยในหนังสืออ้างถึง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและการบริการ ฉบับที่ พ.ศ. 2567 เรื่องการกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม
“ซึ่งหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมของชาวสวนยางทั่วประเทศ จะยื่นทุกจังหวัดที่มีสวนยางพารา ถึงศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะยื่นโดยเครือข่ายชาวสนยางในจังหวัดนั้น ๆ เพราะขณะนี้ชาวสวนยางทั่วประเทศประมาณ 5 ล้านครัวเรือน กำลังประสบกับความเดือดร้อน” นายประยูรสิทธิ์ กล่าว.