สว่างแดนดิน ชุมชนต้นแบบ เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย หลังฤดูทำนา ลด pm 2.5

สว่างแดนดิน ชุมชนต้นแบบ เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย หลังฤดูทำนา ลด pm 2.5





Image
ad1

เกษตรกรบ้านโนนตูม หมู่ที่ 8 ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา มีครัวเรือนเกษตรกร 81 ครัวเรือน หลังฤดูการทำนาจะปลูกพืชผักสวนครัว และเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ทำให้มีรายได้เสริม สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้งดงาม ลดปัญหาการว่างงานได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านที่นี่ยึดอาชีพเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย โดยสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ กันมานานว่า 20 ปี และได้ไปศึกษาดูงานจากที่อื่นเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดความทันสมัยมากขึ้น

จากนั้นจึงได้รวมกลุ่มกันผลิตและได้ขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอสว่างแดนดิน ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดผสมผสานและการแปรรูป” ที่มีนางจินดา คำภูแสน ผู้แทนสภาเกษตรกรอำเภอสว่างแดนดิน ประธานวิสาหกิจชุมชน

ปัจจุบันมีสมาชิกแรกตั้ง 17 คน ปัจจุบัน 27 คน เงินทุน 20,000 บาท ได้นำเงินทุนไปทำกิจกรรมเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยหลังฤดูการทำนา ทำให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาท สมาชิกมีความตั้งใจและร่วมมือเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยเป็นอย่างมาก ทำให้ปี 2567 มีรายได้จากการขายเห็ดฟางรวมเป็นเงิน 1,350,000 บาท 

ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนสมาชิก 80,000 –120,000 บาท/คน/ปีผลิตเห็ดฟางได้ 20,000 ก.ก./ปจำหน่ายในชุมชนและมีพ่อค้าคนกลาง จากชุมชนต่างอำเภอ ต่างจังหวัดมารับซื้อตลอดฤดูกาลผลิต จุดเด่นของเห็ดฟางจะเนื้อแน่น มีรสหวาน จึงเป็นที่นิยมของลูกค้า

นางจินดา คำภูแสน ประธานวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่าการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย เป็นกิจกรรมที่ทำหลังฤดูการทำนา โดยสมาชิกจะไม่เผาฟางข้าว ตอซังข้าว สนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ลดปัญหา PM 2.5 โดยจะนำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย

หากเก็บเห็ดฟางหมด วัสดุที่เหลือใช้ก็จะทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ นำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินในไร่นา ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เพราะที่นี่คือฟาร์มต้นแบบซึ่งใครจะมาดูงานเพื่อนำไปปฏิบัติก็ยินดีและพร้อมให้ความรู้แบบไม่มีกั๊ก