20 บาทตลอดสายประเดิมรถไฟฟ้า "สีม่วง-สีแดง"

20 บาทตลอดสายประเดิมรถไฟฟ้า "สีม่วง-สีแดง"





ad1


“สุริยะ”รมว.คมนาคม เปิดใช้ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประเดิม 2 เส้นทาง “สายสีม่วง-สายสีแดง” เริ่มตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ เผย ในระยะแรกหากข้ามระบบ ยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานให้ทำงานอย่างเร็วที่สุดตามที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้

รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม จึงประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือ

1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี

2. โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของรัฐบาล ซึ่งตนและผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเดินทางมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่จะเริ่มประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเฉพาะของแต่ละสายก่อนในวันนี้ จากเดิมเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน แต่ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความวุ่นวายในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเริ่มประกาศใช้ในวันนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงประหยัดเวลาและจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย ตามนโยบาย Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน การคมนาคมที่ไม่ใช่เพียงแค่การเดินทาง แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก เพื่อคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืนตลอดไป