โครงการรถไฟทางคู่ นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด พร้อมเจาะอุโมงค์รถไฟ

โครงการรถไฟทางคู่ นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด   พร้อมเจาะอุโมงค์รถไฟ





ad1

แม่สอด –การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยโครงการรถไฟทางคู่ นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด   พร้อมเจาะอุโมงค์รถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย และนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ซึ่งมีเขตก่อสร้าง บางส่วนครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด โดยมี นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ,นางธนชพร ต๊ะทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่ปะ  พร้อมกำนันตำบลแม่ปะ ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ รวมถึงแกนนำภาคประชาชน  เดินทางมาร่วมประชุม

โดยได้ประชุมหารือร่วมกัน โดยชาวบ้านเสนอให้เลี่ยงจุดขุดอุโมงค์บริเวณดอยพะวอ กม.225+758 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่ผ่านวัดโพธิคุณ(วัดห้วยเตย) ตำบลแม่ปะ  และเสนอขอเลี่ยงไปยังจุดอื่น ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตาน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวตำบลแม่ปะ และตำบลแม่สอดในการใช้อุปโภค และทำการเกษตรบางส่วน เพราะการขุดอุโมงค์จุดนี้ตรงกับบริเวณวัด โดยทราบว่า จะขุดลึกลงไปร่วม 100 เมตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้รับทราบประเด็นนี้ และจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  ให้ทราบว่า ประชาชนตำบลแม่ปะ ขอเลี่ยงเส้นทางการขุดอุโมงค์ ณ.จุดนี้ โดยมีการเสนอให้เลี่ยงจุดนี้ออกไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  ได้หารือกับผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น และนายอำเภอ โดยจะทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่า พื้นที่แนวอุโมงค์ดอยพะวอ มีปัญหาเรื่องตาน้ำ และจะให้นายอำเภอแม่สอด ผู้นำท้องถิ่นติดตามเรื่องนี้กับทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ ในช่วงที่กำลังลงพื้นที่พบปะกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มี 27 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย


     
1.จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ สถานีบึงเสนาท, บ้านมะเกลือ, มหาโพธิ์, หัวดง, บางตาหงาย, เจริญผล, ตาขีด
     
2.จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ สถานีป่าพุทรา, ยางสูง, วังแขม, วังยาง, ท่ามะเขือ, วังบัว, คณฑี,เทพนคร, กำแพงเพชร, หนองปลิง, ลานดอกไม้, โกสัมพี
     
3.จังหวัดตาก ได้แก่ สถานีวังเจ้า, วังหิน, หนองบัวใต้, ตาก, ด่านแม่ละเมา, แม่ปะ, แม่สอด และด่านแม่สอด ล่าสุดได้ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ทางประชาชนยังข้องใจจุดขุดอุโมงค์ดอยพะวอที่ไปกระทบกับตาน้ำ

รายงานข่าวแจ้งว่า  สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ  ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256.40 กิโลเมตร ตามผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor Upper) จากแม่สอด - นครพนม มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันรวมทั้งให้เกิดความต่อเนื่อง และความสมบูรณ์ชัดเจนต่อผลการศึกษาที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ดังนี้

1. การวางแนวเส้นทาง กำหนดแนวเขตทาง การวางรูปแบบโครงสร้างในช่วงที่เป็นจุดตัดกับโครงการอื่น และเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบ เพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอดที่ได้จัดทำไว้แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
2. ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการฯ
3. สำรวจออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง
4. ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ


 
รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีขอบเขตงานของงาน ของโครงการในงาน 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม
ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเงินของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ที่ได้จัดทำแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558

ส่วนที่ 2 การสำรวจออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคา
การจัดทำแบบรายละเอียด ประมาณราคาค่าก่อสร้าง และเอกสารประกวดราคา โครงการก่อสร้างทางรถไฟสาย     แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ รวมทั้งการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบ และโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปใช้ในการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง

ส่วนที่ 3 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ดำเนินการสำรวจ ศึกษา และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีล่าสุด และปรับปรุงแก้ไข และจัดทำรายงานฯ ตามรูปแบบและรายการที่เปลี่ยนแปลง และตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561