รฟท. ลุยเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ พ.ค.นี้

รฟท. ลุยเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ พ.ค.นี้





Image
ad1

รฟท. ลุยเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ พ.ค.นี้ คาดสัญญา 20 ปี สร้างรายได้กว่า 7.3 พันล้านบาท

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้รับทราบหลักการ และให้ รฟท. ดำเนินการประกวดราคา (ประมูล) โครงการจัดหาเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 12 สถานี รวมประมาณ 4.76 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) แล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดการจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้สมบูรณ์อีกเล็กน้อย คาดว่าภายในเดือนพ.ค. 2565 จะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ายื่นข้อเสนอได้ จากนั้นเตรียมเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอ ภายในเดือนมิ.ย. 2565 โดยใช้หลักเกณฑ์?เทคนิค 80% และราคา 20% คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะประมูลในเดือนพ.ย. 2565 และคาดว่าสามารถเข้าพื้นที่ได้ในข่วงปลายปี 2565 ต่อไป

นายอนันต์ กล่าวว่า การประมูลโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 2. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 3. การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 แห่ง 1 สัญญา และ 4. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในสถานี 12 แห่ง 1 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 และ 4 เป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี ซึ่งเมื่อได้ผู้ชนะประมูลแล้ว รฟท. จะให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มดำเนินการพัฒนาทันที ทั้งนี้คาดว่าตลอดอายุสัมปทานประมาณ 20 ปี จะสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ไม่ต่ำกว่า 7.3 พันล้านบาท

นายอนันต์ กล่าวว่า จากการปรับลดพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ของ รฟท. ลงประมาณ 4,700 ตร.ม. จากเดิม 5.2 หมื่นตร.ม. เหลือประมาณ 4.7 หมื่นตร.ม. เนื่องจากต้องใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ยังคงจำนวนพื้นที่เท่าเดิม โดยพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ จำนวนพื้นที่ประมาณ 2,300 ตร.ม. พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี พื้นที่ประมาณ 3,700 ตร.ม. และพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตร.ม.

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 สามารถส่งมอบพื้นที่บริเวณชั้น 1 และชั้นลอย จำนวน 24,000 ตร.ม. ภายในปี 2566-68 และระยะที่ 2 สามารถส่งมอบพื้นที่บริเวณชั้น 3 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จำนวน 21,000 ตร.ม. ภายในปี 2569