อาชีพผู้หญิงกลุ่มเล็กๆสร้างงาน สร้างรายได้“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน เริ่มจากที่ตัวเราก่อน”

อาชีพผู้หญิงกลุ่มเล็กๆสร้างงาน สร้างรายได้“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน เริ่มจากที่ตัวเราก่อน”





ad1

อาชีพผู้หญิงกลุ่มเล็กๆเมืองปัตตานีสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างพหุวัฒนธรรม
ดึงวิถีชุมชนกลับคืนมา“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน เริ่มจากที่ตัวเราก่อน”

โดย..อับดุลเลาะห์ เบญญากาจ

จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี ที่สร้างความหวาดระแวงและบั่นทอนความสัมพันธ์ของคนสองวัฒนธรรมมานานนับสิบปี  จากอดีตเคยอยู่ร่วมกันไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้เรานับถือ มีความเชื่อที่ต่างกัน แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างชันพี่น้องกัน การสร้าง"พื้นที่กลาง" ที่ทำให้ชาวมุสลิม - พุทธพบปะกัน  ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีที่เคยมีต่อกันมาก็มีเหลือน้อยเต็มที เมื่อผู้หญิงก้าวข้ามทุกอุปสรรค เสริมพลังกันละกัน เรื่องราวแห่งชีวิตที่ดีขึ้นก็บังเกิด เปิดโลกทัศน์ใหม่และเชื่อมร้อยสัมพันธ์ "พื้นที่กลาง" กันด้วยอาชีพ

“กลุ่มอาชีพผู้หญิง” ช่วยสร้างพื้นที่ ประสานรอยร้าวและร้อยรัดผู้คนในชุมชนและนอกชุมชน เป็นบทบาทของผู้หญิงอย่างธรรมชาติในชุมชนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ อยู่ในวิถีชีวิตชุมชน บ้านทุ่ง ต.ท่าข้าม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นชุมชนต้นแบบแห่งความใจกว้างและแบ่งปันกันระหว่างสองศาสนิกที่ปรากฎชัดโดยมี สมปอง อัดอินโหม่ง ผู้หญิงพุทธจากพิษณุโลก ประธานกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง เป็นแกนนำเริ่มสานสัมพันธ์นี้

“เราเริ่มต้นจากคนก่อน เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ก็ปรับตัวปรับใจ มาอยู่บ้านทุ่งกว่าสิบปี เข้าใจทั้งพุทธและมุสลิม พยายามเชื่อมร้อยพี่น้องในชุมชนด้วยอาชีพ มองในสิ่งใกล้ตัว ในชุมชนก่อน จัดคนให้เหมาะกับงาน ชวนพี่น้องพุทธทำงานจักสานจากไม้ไผ่ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างร่วมสมัย ชักชวนพี่น้องมุสลิมเข้ามาร่วมทำอาหาร จะได้เข้าใจ ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนเขาก็เริ่มเปิดใจมาทำกัน เห็นว่าถ้าทำเรื่องอาหารด้วย จะไปได้ดีถ้าเป็นอาหารฮาลาล จนมีสมาชิกทั้งสองศาสนา เพื่อให้กลุ่มเดินหน้าอย่างไม่ติดขัด แบ่งปันค่าเหนื่อยตามคุณภาพงาน เป็นที่ไว้วางใจของคนในชุมชน ริเริ่มสารพัดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ”

นอกจากในชุมชน สมปองยังขยายความร่วมมือไปยังนอกชุมชนกับ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา จากเบญจเมธาเซรามิค ซึ่งเป็นมุสลิมในพื้นที่ปะนาเระเช่นกัน เอ็มโซเฟียนได้ทำท้องทุ่งนาบริเวณบ้านให้เป็นสนามยิงธนูสำหรับผู้สนใจด้วย กลุ่มจักสานบ้านทุ่งรับทำเป้ายิงธนูจากฟางข้าว จนรับออเดอร์กันไม่ทัน และเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ  รวมทั้งมีออเดอร์ทำเปล ตะกร้า บ้านแมว  เบาะนอนจากเส้นยางพารา ชิ้นละหลายพันถึงเป็นหมื่นที่ม.ฟาฏอนี นำไปขายทางออนไลน์ 

“เราเป็นชุมชนสมานฉันท์ หลังเก็บเกี่ยวทุกปีคนพุทธจะให้ข้าวใหม่มุสลิม ทำมาตั้งแต่รุ่นตายาย เราต้องสานต่อ ช่วงโควิดมีคนตกงานมาจากกระบี่ ให้เขามาเลี้ยงแพะ ไก่ เป็ด  พอรวมครบ 5  คนขอโครงการจากทางปศุสัตว์ ตอนนี้ได้แพะเป็นสิบตัว  5  เดือนคลอดครั้งนึง  ตอนนี้เขาสามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ได้แล้ว คนที่ลำบากกว่าเรามีเยอะ เราไม่ทิ้งเขา เราได้ใจเขา ไปไหนในชุมชนก็สบายใจคือความภูมิใจของเรา”

นางกนกพร ชูพันธ์ ผู้ประสานงานโครงการเยาวชนคนควน ต.ควน อ.ปะนาเระ บอกว่า ความสัมพันธ์ของพี่น้องพุทธและมุสลิมในชุมชนยังมีเช่นเดิม อาจปรับไปตามสถานการณ์บ้าง ทำให้ระวังตัวเองกันมากขึ้น หากยังมีความเข้าใจกัน 
“ล่าสุดในการประกวดต.สันติสุข เราได้ร่วมกันจัดดอกไม้ในงาน หรือในการทำนาก็ยังไปช่วยกันอยู่ และมุสลิมยังไปกรีดยางในสวนยางคนพุทธ เราสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนเรื่องการทำความเคารพที่มุสลิมไม่กล้าไหว้บุคคล ด้วยการเชิญมุสลิมที่มีความรู้มาทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน ให้เชื่อมั่นว่าการไหว้มิใช่สิ่งที่ผิดหลักการศาสนา”

กลุ่มอาชีพผู้หญิง  ไม่เพียงแต่สร้างงาน  สร้างรายได้  แต่ยังเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ให้ผู้หญิงในชุมชนได้มาทำงานร่วมกันเมื่อว่างจากกรีดยาง กลุ่มอีบู อีบู จากบ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ที่มี คอลีเยาะ มะลี ประธานกลุ่มฯ  ใช้บ้านของเธอเป็นที่ทำการกลุ่มฯ ทำกะหรี่ปั๊ปเป็นอาชีพเสริมส่งขายตามร้านในชุมชนบอกว่า ใช้บ้านเป็นพื้นที่ทำขนมและพูดคุยกันของสมาชิก ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อมีนาคม 2563

“เรารวมกลุ่มกันมาจนถึงช่วงโควิดมีการแพร่ระบาดในชุมชนจึงต้องหยุดทำไปช่วงนึง จนสถานการณ์ดีขึ้นมารวมกลุ่มกันต่อและพยายามพัฒนาให้ดีกว่าเดิม เรื่องสูตรขนม พี่น้องพุทธจากหมู่บ้านอื่นมาสั่งกะหรี่ปั๊ปที่กลุ่มเราทำอยู่เสมอ เราเริ่มไปมาหาสู่กันมากขึ้นกว่าตอนสถานการณ์แย่ๆ ก่อนหน้านี้กระหรี่ปั๊ปของเราทำให้ได้ร้อยสัมพันธ์ในชุมชนดีขึ้น และมีพื้นที่กลางให้ได้มาพบปะกันช่วยเหลือกันเพราะผู้หญิงไม่เป็นที่จับตามองจากชุมชน ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเรา”

บ้านยุโป ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ชุมชนพุทธเหมือนไข่แดงที่มีพี่น้องมุสลิมรายรอบ มีสัมพันธ์ที่ดีกันมานาน นาฏนภางค์ คล้ายนิมิตร แกนนำภาคประชาสังคมจากบ้านยุโป บอกว่าสถานการณ์ความไม่สงบทำให้คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ หวาดระแวงต่อกันมาก ณ วันนี้สถานการณ์คลี่คลาย ส่งผลทำให้สายสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิมและดีขึ้นด้วยพลังของผู้หญิง รวมทั้งความเข้าใจของสมาชิกในชุมชน

“ตอนนี้ เราไว้วางใจกันและกันมากขึ้น ไม่หวาดระแวงกันในการใช้ชีวิต ไปมาหาสู่ จัดกิจกรรม มีเวทีโครงการต่างๆ ในชุมชน คนพุทธก็ไปร่วม เราไปชวนเขามาทำกิจกรรมเขาก็มา เมื่อออกไปก็กลับมาบอกเล่า พูดคุยในสิ่งที่ถูกต้องให้คนในครอบครัว ญาติ เพื่อนบ้าน ชาวบ้าน อสม.ในชุมชนได้รับรู้โดยเฉพาะเมื่อมีประชุมประจำเดือน”

จากช่วงโควิด กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มแรงงานต้มยำกุ้งที่กลับมาจากมาเลเซีย และผู้หญิงที่ต้องการมีงานทำในชุมชนประมงขนาดเล็ก อ.ปะนาเระเรียกร้องให้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำอาชีพเสริมเพื่อมีรายได้เพิ่ม เมื่อ อาอีซะฮ์ ตีมุง  ประธานกลุ่มสตรีชาวเลปะนาเระ ได้พูดคุยกับกลุ่มพ่อบ้านในกลุ่มโรงเรียนชาวเล พวกเขาสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มทุกอย่าง

“เมื่อเราได้พูดคุยและรวมกลุ่มผู้หญิงในชุมชน ทุกคนอยากมีอาชีพเสริมกัน ซึ่งเคยจัดตั้งกลุ่มมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ไปปรึกษากลุ่มพ่อบ้าน ดีใจมากที่เขาหนุนเรา  เราเริ่มจากการทำปลาหวานและกรือโป๊ะที่สมาชิกทำกันอยู่แล้ว ต่อยอดมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อต้นปี 2564 สิ่งที่ได้มามากกว่าเงินคือได้ร่วมพูดคุยกันในอาชีพ แก้ปัญหาและเปิดใจในเรื่องของแต่ละคน รวมกลุ่มได้อย่างแข็งแรง  คือจุดแข็งของกลุ่มเรา มีการประชุมทุกวันศุกร์ ทุกคนพร้อมใจมาร่วมประชุมโดยมีพ่อบ้านมาส่ง เราได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารในการอยู่ร่วมกันทำให้ไม่ค่อยมีช่องว่างระหว่างรุ่นใหม่และรุ่นเก่าในกลุ่ม แล้วก็ยังนำมาปรับใช้ในกลุ่มเมื่อต้องทำงานหรือประสานงานกับเพื่อนต่างศาสนิก”

ขณะนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหัวปลาโดยวิทยาลัยประมงปัตตานีเพื่อต่อยอดรายได้ให้กลุ่มฯ ต่อไป

ด้านกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและเพื่อน ที่มีหญิงหม้าย หญิงลำบาก ในชุมชนยูโย ด่านภาษี คนจนเมืองในตัวเมืองปัตตานี แรงงานต้มยำกุ้งที่กลับจากมาเลเซีย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ได้รวมตัวเป็นกลุ่มเมื่อปลายปี 2563 เพาะเห็ดนางฟ้าเพิ่มรายได้ แปรรูปเป็นห่อหมกเห็ด เห็ดทอด และน้ำพริกเห็ด แบ่งปันคืนสู่สมาชิก ช่วยเหลือคนในชุมชนช่วงโควิดด้วยอาหารปรุงสุกและถุงยังชีพ

“เรารวมกลุ่มกันด้วยสถานการณ์โควิด ให้มีรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ด พวกเราทำได้ แต่กว่าจะได้จัดตั้งกลุ่มนั้นยาก จนมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ขยายโรงเรือนมีคนรุ่นใหม่มาช่วยสานงานและพัฒนาช่องทางขายออนไลน์ เชื่อมร้อยคนในชุมชนด้วยอาชีพ มีพื้นที่พูดคุยกัน คนพุทธในชุมชนเมืองส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน บางครั้งกลุ่มก็ได้แบ่งปันอาหารให้ อยากให้เขามีส่วนร่วม พูดคุยและพบปะกันในชุมชนมากกว่านี้เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวของกลุ่มและชุมชนพร้อมหาแนวทางกิจกรรมที่รวมตัวกันได้มากขึ้น” พัณยวดี อาแว ประธานกลุ่มฯ บอกถึงเรื่องราวของกลุ่ม

เมื่อผู้หญิงเป็นกลุ่มก้อน มีบทบาทในชุมชน มีอาชีพเพิ่มรายได้ พร้อมเชื่อมร้อยสัมพันธ์ของคนในชุมชน คือความสุขที่สัมผัสได้...พลังผู้หญิงสร้างโลก คือ ความจริง...สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ของจริงในพื้นที่แห่งนี้ ความเป็นจริงของชีวิตผู้หญิงและพี่น้องรายรอบในชายแดนใต้