อุปทานตลาดโลกลด ส่งออกยางกลุ่ม "สปอร์ต"เดี้ยง -กลุ่มลองเทอมยังคึกคัก


ตลาดโลกชะลอคำสั่งซื้อฉุดส่งออกยางกลุ่ม“สปอร์ต”ซบเซา สวนทางกลุ่มยาง “ลองเทอม” สัญญาซื้อขายระยะยาวยังคงไปได้สวยสามารถส่งออกประจำเดือนแต่ละล๊อตตามสัญญา อ้างอิงราคาซื้อขายของประเทศสิงคโปร์เป็นอัตราถัวเฉลี่ย
ผู้ประกอบการแปรรูปยางพาราส่งออกต่างประเทศทางภาคใต้ รายใหญ่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ประกอบธุรกิจส่งออกยางพาราตลาดต่างประเทศทางภาคใต้ประเภทกลุ่ม “สปอร์ต” ค่อนจะข้างเงียบโดยมีการเสนอขาย แต่ไม่มีการขานรับคำเสนอขาย ทั้งตลาดในประเทศจีน และตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไม่มีการขานรับถึง 60-70 % ทั้งประเภทยยางแท่ง และยางรมควัน
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า แต่หากมีการเสนอขายในราคาที่ต่ำ เช่น ยางแท่งราคา 55 บาท / กก. ยางรมควัน ราคา 60 บาท / กก.จะมีโอกาสขานรับ แต่หากมีการขานรับและผู้ประกอบการมีการส่งออกจะประสบภาวะขาดทุน
“ต้นทุนการผลิตยางไทยตอนนี้จะสูง จะส่งออกได้ยากเพราะหากส่งออกในราคาที่ไม่ขาดทุนจะไม่มีการขานรับซื้อ แต่ส่งออกให้มีการการขานรับ ผู้ประกอบการส่งออกก็จะขาดทุน”
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า แต่กลุ่มอุตสาหกรรมยางที่ส่งออกไปได้คือกลุ่มยางประเภทลองเทอม สัญญาซื้อขายระยะยาว โดยส่งออกประจำเดือนแต่ละล๊อตตามสัญญา โดยใช้ราคาซื้อขายของประเทศสิงคโปร์เป็นอัตราถัวเฉลี่ย ส่วนที่ไม่สามารถส่งออกได้ เป็นการซื้อขายยางประเภทกลุ่มสปอร์ต
นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจบ้านพอเพียง - โคก หนอง นา และประธานเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า ภาวะยางในปี 2568 ในระยะครึ่งปีแรกมีปริมาณผลผลิตน้อยเพราะจากสภาพภูมิอากาศไม่สามารถกรีดยางเต็มที่
นายทศพล กล่าวถึงแนวทางป้องกันราคาผันผวนที่ทาง คยปท.นำเสนอมา เช่นการนำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายในประเทศทางด้านต่างๆ ฯลฯและที่สำคัญสำหรับเจ้าของสวนยาง ซึ่งภาพรวมเป็นเจ้าของสวนขนาดรายเล็กรายย่อย ควรทำพืชเชิงซ้อน สวนยางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง จะพยุงกันยามภาวะราคายางตกต่ำ มาค้ำจุนหนุนได้
นายทศพล กล่าวอีกว่า ยางยังมีอนาคตที่ดี ยางเป็นปัจจัยสำคัญหลักจะต้องใช้ และขณะนี้สถานการณ์โลกหลายประเทศมีนโยบายเพิ่มงบประมาณทางด้านความมั่นคงด้านการทหาร ซึ่งจะต้องใช้ยาง
“ยางเป็นยุทธปัจจัย ประกอบการทหาร อดีตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นต้องมีการฟื้นฟูประเทศฟื้นทางด้านความมั่นคง ส่งผลให้ยางขณะนั้นราคาสูงขึ้น 25 บาท / กก. โดยในขณะนั้นไทยยังใช้เงินเหรียญสลึง และราคาข้าว 800 บาท / ตัน และหลังจากปี 2484 จึงมีการขยายการลงทุนปลูกยางกันมากตั้งแต่นั้นมา”
นายทศพล กล่าวอีกว่า แนวโน้มยางจึงมีทิศทางที่ดี จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น แต่ในในขณะที่ต้นยางก็มีปริมาณที่ลดลง ไทยควรจะต้องเอายางไว้ที่ยังเหลืออยู่ 9hv’ทำเป็นสวนพืชเชิงซ้อน และสวนยางจะต้องมีสายพันธุ์ที่มีคุณภาพที่จะต้องเพิ่มปริมาณน้ำยางได้มากขึ้น”
นายทศพล กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องมีกองทุน และตั้งแก้มลิงเพื่อเก็บสต๊อกยางสะสมยามกลไกการตลาดทำราคาผันผวน และพร้อมออกขายยางเมื่อได้ราคา