ผงะ!ตรวจยึดซากเนื้อแช่ฟอร์มราลีนลอบนำเข้าซุกห้องเย็นย่านคลองหลวง 41 ตัน


ตำรวจสอบสวนกลางบุกตรวจห้องเย็นย่านคลองหลวง ยึดซากเนื้อลอบนำเข้า 41 ตัน พบร่องรอยแช่ฟอร์มาลีน เสี่ยงอันตรายผู้บริโภค
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 และ กก.2 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์
พร้อมของกลางที่ตรวจยึด
1.ซากเนื้อโคแช่แข็งต่างประเทศ และไม่มีบรรจุภัณฑ์ ไม่ทราบแหล่งที่มา จำนวน 41,771.85 กก.(จุดที่ 1), 537 กก.(จุดที่ 2)
2.วัตถุของเหลวบรรจุในถังพลาสติกสีดำ ฉลากระบุ “สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์สำหรับอุตสาหกรรม จำนวน 9 ถัง (จุดที่ 1)
รวมมูลค่าของกลางทั้งหมดประมาณ 4,230,800 บาท
สถานที่ตรวจยึด
1.ห้องเย็นในพื้นที่ ซ.ริสกี ม.4 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
2.ห้องเย็นในพื้นที่ ซ.อะลา ม.5 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท
กรมปศุสัตว์ ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นห้องเย็น 4 จุด ในพื้นที่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลังได้รับแจ้งเบาะแสว่า เป็นแหล่งลักลอบเก็บรักษาและกระจายซากเนื้อสัตว์นำเข้าผิดกฎหมายไปยังตลาดและร้านอาหารในเขตปริมณฑล รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ผลการตรวจสอบภายในห้องเย็น พบซากเนื้อโคแช่แข็งจำนวนมากกว่า 41 ตัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท จัดเก็บโดยไม่มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาและเอกสารแสดงการนำเข้าตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จากการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์โดยส่วนใหญ่ระบุแหล่งที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศต้นทางที่มีการควบคุมการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวด หากไม่ผ่านการตรวจรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบ ถังน้ำแข็งที่ใช้แช่เครื่องในสัตว์ ซึ่งอยู่ในสภาพผิดปกติ
เมื่อตรวจสอบใกล้เคียง พบถังพลาสติกบรรจุสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์สำหรับอุตสาหกรรม (หรือฟอร์มาลีน) วางอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจากการเปิดถังน้ำแข็งและตรวจสอบ พบว่าชิ้นส่วนเครื่องในสัตว์มีกลิ่นคล้ายฟอร์มาลีนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ เสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภค
เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการอายัดซากสัตว์ทั้งหมดไว้ในสถานที่เกิดเหตุ พร้อมแจ้งให้ผู้ครอบครองนำเอกสารแสดงความถูกต้องมาชี้แจงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถแสดงเอกสารได้ จะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง