ชาวบ้านชุมชนจาเราะกางา ร่วมแรง ร่วมใจ "กวนขนมอาซูรอ"สืบสานประเพณีโบราณชาวมุสลิม


ยะลา -ชาวบ้านชุมชนจาเราะกางา ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมกิจกรรมกวนขนมอาซูรอ หรือ บูโบร์ซูรอ ประเพณีโบราณของชาวมุสลิม 1 ปี มีเพียงครั้งเดียวใช้เวลากวนติดต่อยาวนานแบบไม่พักถึง 6 - 7 ชั่วโมง
นายสมบูรณ์ ดือรือมอ ประธานชุมชนบ้านจาเราะกางา อ.เบตง จ.ยะลา ได้นำคณะกรรมการชุมชน ผู้นำศาสนา กลุ่มสตรี และกลุ่มเยาวชน ร่วมกิจกรรมกวนอาซูรอซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นโบราณของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำขึ้นในเดือนมุฮัรรอม อันเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามศาสนาอิสลาม ที่ 1 ปี จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และใช้เวลากวนติดต่อยาวนานแบบไม่พักถึง 6 -7 ชั่วโมง โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ชาวบ้านชุมชนบ้านจาเราะกางา ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทั้งหั่นและปอก พร้อมทั้งช่วยกันใช้ไม้พายกวนส่วนผสมของขนมอาซูรอในกระทะใบใหญ่ ทั้ง 4 กระทะให้เข้ากัน
นายโมฮัมหมัดอิดริส บาฮา ผู้นำศาสนาในพื้นที่ เล่าว่า สืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยศาสดานุฮ์ หนึ่งในศาสดาของศาสนาอิสลาม ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกมีการนำสัตว์เป็นคู่ๆขึ้นเรือใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไร่นาของประชาชนและสาวกของศาสดานุฮ ทำให้เกิดสภาพขาดแคลน ผู้คนทั่วไปอดอาหาร ท่านศาสดานุฮ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหารกันโดยทั่วหน้า
นอกจากนี้ยังผลให้เกิดความสามัคคี กลมเกลียวในหมู่ชน และคำว่า "อาซูรอ" มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า "การผสม" หรือ "การรวมกัน" ซึ่งหมายถึงการนำส่วนผสมต่างๆ ทั้งของคาวและของหวาน มาปรุงรวมกันในกระทะใบใหญ่ การกวนอาซูรอ จึงเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชน และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน
ด้านนายสมบูรณ์ ดือรือมอ ประธานชุมชนบ้านจาเราะกางา กล่าวว่า การกวนขนมอาซูรอ หรือ บูโบร์ซูรอ ต้องอาศัยความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชน โดยชาวบ้านจะนำส่วนผสมต่างๆ ที่รับประทานได้ เช่น เผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องแกงต่างๆ (ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม พริกไทย ฯลฯ) และกะทิ มาเตรียมไว้ เมื่อส่วนผสมพร้อมแล้ว ชาวบ้านจะนำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในกระทะใบใหญ่ ตั้งไฟ และช่วยกันกวนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ไม้พายในการกวน . การกวนต้องใช้เวลาพอสมควร อาจใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง
หรือมากกว่านั้น เพื่อให้อาซูรอมีลักษณะเหนียวและแห้งได้ที่ ให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายขนมเปียกปูน และเมื่ออาซูรอสุกได้ที่แล้ว จะตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอย หรืออาจจะโรยหน้าด้วยสมันกุ้ง หรือ สามาอูแด แล้วแต่ความชอบของแต่ละท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายให้คนในชุมชนและผู้ที่มาร่วมงานได้รับประทานกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนส่งเสริมความสามัคคีและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในพื้นที่ ปลูกฝังเยาวชนให้เกิดความสามัคคีปรองดอง และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของพี่น้องไทยมุสลิมและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
โดย....เจษฎา สิริโยทัย จ.ยะลา