“สมศักดิ์” ย้ำ ระบบยาที่มั่นคงช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ดันไทยสู่ Medical and Wellness Hub

“สมศักดิ์” ย้ำ ระบบยาที่มั่นคงช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ดันไทยสู่ Medical and Wellness Hub





Image
ad1

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ระบบยาประเทศไทย” ย้ำความสำคัญของระบบยาที่มั่นคง ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพโลก พร้อมมอบรางวัลเกียรติยศ 5 ทศวรรษระบบยาประเทศไทย เชิดชูเกียรติบุคคลและเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบยา รวม 50 รางวัล

วันนี้ (3 เมษายน 2568) ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาระบบยาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” และมอบรางวัลเกียรติยศ 5 ทศวรรษระบบยาประเทศไทย เชิดชูเกียรติบุคคลและเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบยา ในการประชุมวิชาการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ระบบยาประเทศไทย” ภายใต้แนวคิด “Bridging Health and Wealth :The Strategic Impact of Drug System”

โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา คณะผู้บริหาร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยา และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยกล่าวว่า ระบบยา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของระบบสุขภาพของประเทศ และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจชาติ การพัฒนาระบบยาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยในอนาคตที่สามารถส่งผลต่อการสร้างระบบยาที่ยั่งยืนด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล้ำสมัย ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือ ภัยคุกคามสุขภาพระดับโลก สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวน การเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคม และรูปแบบของโรคที่อาจเปลี่่ยนแปลงไป รวมถึงโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบยา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ประเทศไทยมี “ระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพ         อย่างทั่วถึงและปลอดภัย” สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570)   ซึ่งการพัฒนายานวัตกรรมให้ทันต่อสถานการณ์จำเป็นต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำวิทยาการด้านสุขภาพมาช่วยดูแล รักษา ป้องกันและฟื้้นฟู ให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี

รวมทั้งขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical and Wellness Hub ที่สามารถสร้างมูลค่ากว่า 6.9    แสนล้านบาท ผ่านนโยบายสำคัญ เช่น การยกระดับสมุนไพรไทย ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” การมุ่งสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ที่มีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท ในปี 2573 โดยต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ อย่างครบวงจร เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางบริการ ทางการแพทย์ของภูมิภาคต่อไป

ด้าน นพ.สุรโชค กล่าวว่า สำหรับ 50 รางวัลเกียรติยศ 5 ทศวรรษระบบยาประเทศไทย แบ่งเป็น รางวัลเกียรติยศประเภทบุคคล 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านขับเคลื่อนและพัฒนานโยบาย ด้านการเข้าถึงยา ด้านอุตสาหกรรมยา ด้านการใช้ยาสมเหตุสมผล และด้านสารสนเทศระบบยา รวม 15 รางวัล และ รางวัลเกียรติยศประเภทเครือข่าย 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาสถาบันการศึกษาตัวอย่างด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล สาขาหน่วยงานบริการ สาขาเครือข่ายภาคประชาชน สาขาเครือข่ายสนับสนุนการสื่อสารข้อมูลด้านยา สาขาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม สาขาหน่วยวิจัยระบบยา และสาขาหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยระบบยา รวม 35 รางวัล