ผู้ว่าฯน่าน เร่งสร้างความเข้าใจ “ขุดลอกต่างตอบแทน” ป้องกันน้ำท่วมก่อนเข้าฤดูฝน ชี้เป็นไปตามระเบียบ ไม่เอื้อเอกชน


นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เร่งสร้างความเข้าใจมาตรการขุดลอกแม่น้ำน่านตลอดทั้งแนว เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำก่อนเข้าช่วงฤดูฝนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำน่าน ซึ่งมีหลายมาตรการ และหนึ่งในมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด สามารถบรรเทาและลดความรุนแรงของน้ำท่วมจังหวัดน่านได้คือ การขุดลอกแม่น้ำน่านตลอดทั้งแนว ซึ่งไม่เคยมีการขุดลอกมาก่อนทำให้มีตะกอนสะสมตื้นเขิน โดยจังหวัดน่านได้มีการประชุมและกำหนดแนวทางร่วมกัน ที่จะขุดลอกแม่น้ำน่านตลอดทั้งแนวตั้งแต่ด้านเหนือจุดเริ่มต้นจนถึงด้านใต้สุด โดยกำหนดเป็นระยะ จากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งปีนี้ได้พิจารณาในจุดที่มีความเสี่ยงและวิกฤต มีความละเอียดอ่อน เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจ พื้นที่ซึ่งมีคนอาศัยร่วมกันมาก เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต้องเร่งดำเนินการ โดยจุดแรก สะพานศรีบุญเรือง ขึ้นเหนือไปทางสะพานค่ายสุริยพงษ์ ซึ่งเป็นเขตชุมชน จุดที่สอง คือ พื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลจากทางเขตชุมชนเมือง คือ สะพานศรีบุญเรือง ไปถึงพื้นที่ตำบลดู่ใต้ และ ตำบลกองควาย อ.เมืองน่าน
ซึ่งในหลักการได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ การขุดลอกต่างตอบแทน เป็นไปตามระเบียบราชการที่เปิดช่องให้ใช้วิธีการนี้ได้ เนื่องจาก หากจังหวัดน่านดำเนินการขุดลอกเองโดยขอใช้งบกลางจากรัฐบาล จะล่าช้าและดำเนินการไม่ทันในช่วงฤดูฝนนี้ และวิธีการจ้างเหมา จะมีข้อจำกัดเรื่อง กรวด หิน ดิน ทราย ที่ถูกกองไว้ตามแนวขุด และเมื่อฝนตกก็จะชะล้างลงไปตามร่องแนวขุดอีกทำให้เกิดการตื้นเขินซ้ำ ด้วยข้อจำกัดของจังหวัดน่านขณะนี้ จึงใช้ “การขุดลอกต่างตอบแทน” ซึ่งราชการไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยทำโครงการและให้ภาคเอกชนซึ่งมีความพร้อมในเรื่องเครื่องจักรกลและศักยภาพการดำเนินการมากกว่าภาครัฐ ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร และภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากวัสดุที่ขุดขึ้นมาได้เป็นการตอบแทน
(แฟ้มภาพน้ำท่วมจังหวัดน่าน ปี 2567)
(แฟ้มภาพน้ำท่วมจังหวัดน่าน ปี 2567)
โดยตลอดแนวการขุดลอกจะมีการแบ่งเป็นระยะ และให้ภาคเอกชนหลายรายได้เข้ามาร่วมดำเนินการ ไม่ใช่เพียงแต่เอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยเบื้องต้นมีเอกชนที่รวมกันแล้ว มีรถแบคโฮ กว่า 100 คัน ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ แต่ต้องให้ความสำคัญมาก คือ เรื่องของปริมาตรกรวด หิน ดิน ทราย ที่เอกชนจะขุดขึ้นมาได้ รวมทั้งความกว้างและความลึกของแนวขุด ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้ทางราชการเสียประโยชน์ ซึ่งจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา สำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา มีหน้าที่ในการคำนวณปริมาตรวัสดุที่ขุดขึ้นมาได้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 และนักวิชาการ ซึ่งจะต้องเร่งสำรวจ ออกแบบ ให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเมษายนนี้ และทำเรื่องขออนุญาตกรมเจ้าท่า ก่อนดำเนินการแต่จะต้องให้ทันในช่วงฤดูแล้งนี้ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำก่อนเข้าฤดูฝน โดยให้ท้องถิ่น คือ อบต. ทุกแห่งที่ติดริมแม่น้ำ ได้เสนอโครงการขึ้นมา มีคณะกรรมการตรวจรับอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปริมาตรวัสดุจากการขุดลอกเพื่อคำนวณราคา ไม่ให้ทางราชการเสียประโยชน์ รวมทั้งจะให้ภาคประชาชน กลุ่มองค์กรสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมมามีส่วนร่วมเป็นกรรมการตรวจรับด้วย
ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน