มนต์เสน่ห์ “งานชักพระโคกโพธิ์” มรดกวัฒนธรรมผ่านงานศิลป์


ย่างเข้าเดือน 11 ของทุกๆปี หลังวันออกพรรษา ย่างเข้าสู่วันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวใต้ นั่นคือ ประเพณีชักพระของอำเภอโคกโพธิ์ ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษ คนเฒ่า คนแก่สืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานชาวชาวใต้เมื่อวันชักพระ หรือที่เรียกติดปากกัน “ลากเรือพระ” จะหอบกระเป๋ากลับมาบ้านเกิดร่วมงานพิธีสำคัญ
ตามข้อมูลเล่าต่อกันมา ตั้งแต่ปี 2409 โดยพระอธิการแดงสุนทรโร (หลวงปู่แดง) วัดมะเดื่อทอง ในช่วงปีนั้นหลวงพ่อได้มีการนัดหมายให้ลากเรือพนม (เรือที่จัดตกแต่งเป็นทรงพุ่มยอดแหลม) มาจอดชุมนุมสมโภชร่วมกัน จากนั้นต่อมาปี 2492 ได้มีการลากเรือมาชุมนุม รวมตัวกันหน้าอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นงานประเพณีจัดกันมาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอำเภอโคกโพธิ์ และได้สืบทอดกันมาเป็นประเพณีสำคัญของทุกปี
ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปี งานชักพระโคกโพธิ์ ถือว่ายิ่งใหญ่มากในพื้นที่ด้ามขวานทอง มีเรือพระ ที่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นลากมาร่วมงานกันมากมาย ทั้งแถบจังหวัดสงขลา ปัตตานีและจังหวัดยะลา ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในอำเภอละแวกใกล้เคียงที่เดินทางสัญจรมาสะดวก ยุคนั้นมีถนนสายเล็กๆขนาดสองเลน แต่ละวัดที่นำเรือพระลากกันมา ค่อนข้างลำบาก บางวัดผ่านถนนดินแดง กลางท้องทุ่งบ้าง บางวัดอยู่ใกล้ตัวอำเภอ แต่ประชาชนชาวพุทธพร้อมร่วมแรง ร่วมใจนำเรือพระมาร่วมประเพณีให้ได้ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง ปีไหนมีฝนตกจะตัวเปียกฝน ถนนแซะ แต่ไปเป็นอุปสรรค ทุกคนร่วมใจสามัคคีเพื่อประเพณีไทย
ทั้งนี้ เพื่อที่นำเรือพระของแต่ละวัดในท้องถิ่น มาร่วมประเพณีสำคัญให้ได้ ซึ่งช่วงก่อนเรือออกจากวัดช่วงเช้าจะมีการทำพิธีเอา “พระแม่เรือ” คือพระพุทธรูปประจำอยู่ในเรือ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไม่มีอุปสรรคการเดินทาง อย่างในอดีตการลากเรือพระใช้ล้อไม้ในการขับเคลื่อน เมื่อมีการลากเรือใช้คนจำนวนมาก อาจวิ่งสะดุดกันบ้าง อาจเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ ทุกคนเดินลากเรือตามความสนุกสนานของเสียงจังหวะกลอง ปัจจุบันเรือพระมีการพัฒนาใช้ล้อรถยนต์ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของวัดตั้งอยู่ในระยะไกลๆ
การออกแบบเรือพระมีอยู่ 2 ประเภทคือ ประเภทเรือยอด และประเภทความคิด สองแบบจะต่างกัน เรือยอดจะมีโครงสร้าง ออกแบบลวดลายกนก ลายเทพพนม ยอดพลี ที่เล่นสีสดใส สวยงามสะดุดตามแสงไฟในยามค่ำคืน ส่วนประเภทความคิด จะมีการออกแบบ เล่าเรื่องทางพุทธศาสนา จำลองสร้างพระพุทธรูปสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนา
แม้ยุคหลังๆ ได้มีวิวัฒนาการด้านการออกแบบลวดลาย ด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถตัดออกแบบเป็นลวดลายต่างๆได้แล้วนำมาแปะติดในโครงสร้างเรือ ส่วนงานวาดลวดลายและแกะลายไทยด้วยมือ พอหลงเหลือนายช่างศิลป์ทำลวดลายเรือให้เห็นอยู่บ้างในยุคนี้ ช่างเหล่านี้จะเป็นช่างที่มีประสบการณ์ถูกถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นลุง รุ่นตา ส่วนเด็กรุ่นใหม่ๆฝีมือดี ยังมีน้อย เพราะงานแกะกระดาษ งานลวดลาย การแปะ ต้องมีความอดทนสูง ใส่ใจในรายละเอียดและใช้สายตาค่อนข้างเยอะ
เรือพระบางลำใช้เวลาทำ 4-5 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อผลงานเสร็จมาแล้ว สร้างความภูมิใจให้ชาวบ้านในท้องถิ่นๆนั้น เพราะว่าบางวัดจะต้องทำเรือพระ เพื่อร่วมส่งประกวด หวังพิชิตรางวัล สร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้านตัวเอง
นอกจากนี้ “เสียงกองตะโพน” จะต้องดังกึกก้อง สมัยก่อนจะมีการตีก่อนในช่วงค่ำ ก่อนวันลากเรือหลายๆวัน เพื่อเตรียมตัวประชันกันที่หน้าอำเภอ กลองตะโพนคู่ที่อยู่หลังเรือ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะระหว่างลากเรือ เสียงกลองดังลั่นสะเทือนบนถนน ย่อมบ่งบอกเหมือนเสียงคำรามให้เรือกับคนลากแล่นไปอย่างสนุกสนาน
ระยะทางการลากเรือ จากวัดหัวควน วัดนาเกตุ สองวัดพี่ วัดน้องมายังหน้าอำเภอโคกโพธิ์ ราว 6 กิโลเมตร จังหวะเสียงกลองช่วยควบคุมความเหน็ดเหนื่อยได้ระดับหนึ่งสมัยนี้จะมีนางรำ เดินนำหน้าเรือพระ พร้อมกลองยาว สร้างความคึกครื้นอีกระดับหนึ่ง พร้อมเสียงเพลงรถแห่เปิดก้องสองข้างถนน
แม้ระยะทางไกล แค่ไหนแต่เรือวัดแม่กัง วัดหนองครก ยังได้ฤกษ์ออกกันมาแต่เช้า มาทานข้าวรองท้องกันริมทาง เพื่อให้ทันเวลา แต่เรือบ้านหรั่ง ปีนี้ดูมีสีสันบันเทิง มีรถแห่เปิดเสียงเพลงได้ถึงใจ ใครๆอยู่ข้างทางออกมาวิ่ดู ส่วนวัดหน้าเกตุ รวมพลังชาวบ้านแต่งชุดสีสัน นางรำ สนุกสนานกันตั้งแต่ออกจากหน้าวัด
แต่ที่ขาดไม่ได้ วัดหัวควน เอาฤกษ์ 9.29 เวลาดีมีชัย จัดนางรำชุดสีฟ้า รุ่นป้า รุ่นน้า มากันครบ แต่ปีนี้นางรำ ขาแดนส์หายไปบ้างบางตา แต่ร่วมมือเดินเต้นกันไม่มีคำว่าเหนื่อย เจอจังหวะกลองยาว เสียงฆ้อง โม่ง ฝีมือจ่ายง แต่งกายดี ลีลาเด็ด แต่เรือที่ตามมาติดๆ วัดยางแดง ปีนี้ทำเรือสีสัน สะดุดตา ลวดลายแกะกันอย่างละเอียดงดงาม น่าจะลุ้นรางวัลติดไม้ ติดมือมาให้ได้
มาดูวัดมะกรูด นำโดยพ่อท่านจวน มาให้พร พรหมน้ำมนต์นำเรือพระออกตั้งแต่เช้า เพื่อเอาฤกษ์ เอาชัยให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญกันยามเช้าก่อนเรือออก ส่วนเที่ยงๆ ปีนี้ครึมฟ้า ครึมฝน อากาศดี วัดตั้งอยู่ถนนเส้นปัตตานี-ยะลา อย่างวัดยางแดง แห่มากับเรือยอด ดูโดดเด่นไม่แพ้ใคร ตามด้วยวัดช้างไห้ มาแรงแซงโค้งปีนี้ ส่งเรือยอด งานศิลป์งดงาม ดูละเอียด สีสันเจอแสง สร้างจุดสนใจไม่น้อย ส่วนวัดทุ่งพลามาไกล ส่งประเภทความคิด ปิดท้ายด้วยวัดห้วยเงาะ ศิษย์พ่อท่านเขียว อุดมสมบูรณ์ลูกสะตอ ครองหัวนาค ผลไม้พื้นบ้านนานาพันธุ์ ช่างทำเรือยอดประชันกันสนุกแน่ แค่ว่าจะโดนใจกรรมการแค่ไหน
บอกเลยว่า ปีนี้คณะกรรมการตาลายแน่ แต่ความสวยงามเรือยอดสูสี โดนใจ เรือลำไหนเล่นสีดูโดเด่น ออกแบบลวดลายได้ถึงใจ มีความหมายงานพุทธศิลป์ ต้องดูกันนานๆ ทั้งยามเช้า กลางวัน ยามค่ำคืน ความสวยเรือพระแต่ละลำไม่เหมือนกัน
แต่นี่คือ พลังชาวพุทธช่วยกันสืบสาน ประเพณีอันยิ่งใหญ่ชาวโคกโพธิ์ ให้โลกรู้ว่า “ชอฟต์พาวเวอร์” ของไอเดียคนไทยปลายด้ามขวาน