บังกี้ และ ซีพีเอฟ รับมอบกากถั่วเหลืองปลอดรุกป่าจากบราซิล "ตู้แรก" ย้ำผู้นำความโปร่งใสระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยบล็อกเชน

บังกี้ และ ซีพีเอฟ รับมอบกากถั่วเหลืองปลอดรุกป่าจากบราซิล "ตู้แรก"  ย้ำผู้นำความโปร่งใสระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยบล็อกเชน





ad1

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บังกี้  จำกัด (BUNGE) คู่ค้ารายใหญ่ระดับโลก ส่งมอบ "กากถั่วเหลืองปลอดรุกพื้นที่ป่า" จากบราซิลถึงไทย “ล็อตแรก” จำนวน 185,000 ตัน  ผ่านการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับของทั้งสองบริษัท และเพิ่มความโปร่งใสด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบ มาจากแหล่งที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ
บริษัท บังกี้  จำกัด (NYSE: BG) (“บังกี้”)  และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โชว์ความสำเร็จของความร่วมมือในการจัดหาถั่วเหลือง และวัตถุดิบจากถั่วเหลืองอย่างรับผิดชอบ ผ่านการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแปลงปลูกของเกษตรกรในบราซิล โดยดำเนินการทดสอบการเชื่อมต่อระหว่างการส่งมอบกากถั่วเหลืองจากบราซิลจำนวน 185,000 ตัน ซึ่งเดินทางถึงประเทศไทยในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2567 นี้ นับเป็นถั่วเหลือง "ตู้แรก” จากบราซิล ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแปลงปลูกของเกษตรกรเป็นพื้นที่ที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน นอกจากนี้ บังกี้ยังเตรียมส่งมอบถั่วเหลืองปลอดการบุกรุกป่าอีกกว่า 180,000 ตันภายในเดือนกรกฎาคมนี้

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า ความร่วมมือกับ บังกี้ รวมทั้งขยายผลไปถึงซัพพลายเออร์ และเกษตรกรทั่วโลก  ผ่านการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับของสองบริษัทด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน  ช่วยให้กรุงเทพโปรดิ๊วสสามารถติดตามถั่วเหลืองตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ การระบุแปลงเพาะปลูก การแปรรูป และการขนส่งจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกรุงเทพโปรดิ๊วสในการจัดหาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของซีีพีเอฟด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองยังช่วยให้กรุงเทพโปรดิ๊วสสามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตถั่วเหลือง เช่น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลือง รวมถึงการยืนยันข้อมูลของแปลงปลูกที่ประยุกต์ใช้ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เป็นต้น สำหรับการขับเคลื่อนสู่ Net-Zero ต่อไป

“การส่งกากถั่วเหลืองปลอดรุกพื้นที่ล็อตแรก  ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทางแหล่งเพาะปลูกในบราซิลจนถึงปลายทางที่ประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญกรุงเทพโปรดิ๊วส สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการจัดการห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ยืนยันว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาจากห่วงโซ่ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าได้ 100% ภายในปี 2025” นายไพศาล กล่าวเสริม
การส่งมอบกากถั่วเหลืองที่ปลอดจากการบุกรุกป่า เป็นผลจากการความร่วมมือระหว่างบังกี้ และกรุงเทพโปรดิ๊วสในด้านเทคนิค การค้า และการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับกับเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลืองที่รับผิดชอบ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุม การจัดหาเมล็ดพืชน้ำมัน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดพืชน้ำมันที่บังกี้จัดหาในบราซิล สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซีพีเอฟในประเทศไทย และกิจการในต่างประเทศ

ด้าน นายโรสซาโน ดิ อันเจลิส จูเนียร์ รองประธานฝ่ายธุรกิจการเกษตรเขตอเมริกาใต้ ของ บังกี้ กล่าวว่า ความร่วมมือของบังกี้กับซีพีเอฟ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลือง ซึ่งบังกี้ได้กำหนดและพัฒนาการจัดหาถั่วเหลืองที่ตรวจสอบย้อนกลับได้มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนให้กับตลาดที่ต้องการสินค้าที่มาจากการจัดหาอย่างรับผิดชอบ
ระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาถั่วเหลืองของบังกี้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกในทวีปอเมริกาใต้กว่า 16,000 แปลง หรือประมาณ 20 ล้านเฮกตาร์ ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการระบุและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการปลูกถั่วเหลืองในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ บังกี้ กำหนดเป้าหมายสามารถตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองที่จัดหาในทางตรงและทางอ้อมในบราซิลปลอดการตัดไม้ทำลายป่าได้ภายในปี 2025 ปัจจุบัน ร้อยละ 97 ของปริมาณถั่วเหลืองที่จัดหาจากพื้นที่เสี่ยงของบังกี้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินอย่างโปร่งใส