พลิกผื่นนาแล้งล่าปูนาจำศีลทำอาหาร-ขาย วิถีชีวิตของคนห้วยแถลง

พลิกผื่นนาแล้งล่าปูนาจำศีลทำอาหาร-ขาย วิถีชีวิตของคนห้วยแถลง





ad1

นครราชสีมา –วิถีชีวิตการหาอยู่หากินแบบพอเพียง ชาวบ้านโคราชออกหาขุดปูจำศีลหลังฤดูกาลทำนาปี สร้างรายได้เสริมในช่วงหน้าแล้ง ชี้ปูนาช่วงนี้มันเยอะรสชาติอร่อยที่สุด

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ยึดวิถีชีวิตการหาอยู่หากินแบบพอเพียงเรียบง่าย อยู่กับผืนนาที่แห้งแล้งหลังเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จ ชักชวนกันออกขุดปูนาขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงชีพ โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นจากการเกี่ยวข้าวนาปีของชาวนาไปแล้ว ในท้องทุ่งนาที่ว่างเปล่าไม่ใช่จะเหลือเพียงซังข้าว ฟางข้าว กับความแห้งแล้งเพียงเท่านั้นก็ยังปูนาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูพืชที่กัดกินต้นข้าว หลบความร้อนลงไปจำศีลอยู่ภายในรู ซึ่งชาวบ้านจะใช้โอกาสในช่วงนี้ออกหาขุดจับมาประกอบอาหารเลี้ยงชีพและขายสร้างรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งในช่วงหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เข้าครอบครัวอีกทาง เฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 100 -300 บาทต่อวัน ถึงแม้จะดูไม่มากมายก็ตามแต่กับสังคมชนบท เงินจำนวนเพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับครอบครัวในการใช้ดำรงชีพได้

คุณยายเขียว ปราณีโกรัมย์ ชาวบ้านบ้านตะเคียนทอง ต.หลุ่งตะเคียน อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา หนึ่งในชาวบ้านที่เริ่มออกตระเวนหาขุดปูตามท้องไร่ท้องนา โดยชักชวนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านไปด้วยกัน 3-4 คน สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้หาปูนา มีเพียงจอบเสียม ถังเปล่าและถุงตาข่ายสำหรับใส่ปูนา แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำเปล่า เพราะต้องตากแดดขุดกันทั้งวันจึงต้องคอยจิบน้ำอยู่เรื่อยๆ เพื่อป้องกันการเป็นลมแดด สำหรับวิธีการ ขุดหาปูนาก็มาจากประสบการณ์ โดยสังเกตดูตามพื้นดินและใต้กองซังข้าว ดูว่าบริเวณไหนมีรูปูนาอาศัยอยู่จะมีรอยขาปู และกองดินเล็กๆ ที่ปูขุดไว้ปากหลุม แล้วใช้เสียมขุดลงไปลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก็จะได้ปูนาขึ้นมา และถ้าโชคดีอาจจะมีสัตว์จำพวกกบ เขียด ที่หลบอาศัยอยู่ตามซังข้าว ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะอยู่ในช่วงจำศีลจากสภาพที่อากาศที่แห้งแล้ง ทำให้สามารถจับได้โดยง่าย

การออกขุดหาปูมักจะนิยมขุดในช่วงหลังฤดูทำนา เนื่องจากผืนดินในนาข้าวเริ่มแห้ง ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มทำให้ปูนามักจะเก็บสะสมไขมันแล้วหลบลงไปจำศีลในรู จึงทำให้ปูนาในช่วงนี้จะมีความมันและรสชาติอร่อยกว่าในทุกช่วงปี ถ้าออกมาขุดหลังจากนี้ไขมันในตัวปูที่สะสมไว้ก็จะเริ่มหมดทำให้รถชาติไม่ดี ประกอบกับดินในผืนนาข้าวก็จะเริ่มแข็งตัวไม่สามารถขุดได้ง่ายเหมือนช่วงนี้ ส่วนในฤดูฝนถึงแม้จะมีปูนาให้เลือกจับเป็นจำนวนมาก แต่รสชาติก็จะไม่ดี สำหรับราคาขายปูนาในช่วงนี้จะซื้อขายกันที่กิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าเป็นปูนาในช่วงอื่นของปีจะขายกันกิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งทันทีที่คนในหมู่บ้านทราบว่าตนออกมาหาขุดปูนาก็มีคนสอบถามขอซื้อไว้ตั้งแต่ก่อนออกจากหมู่บ้านแล้ว.

โดย....ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา