คนขอนแก่นเชื่อ แม้ "ก้าวไกล"ถูกยุบพรรค ก็ยังมีคนรักและชอบมากกว่าเดิม
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 31 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เรื่องการพิจารณาที่ 19/2566 กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงความรู้สึกหลังทราบมติเอกฉันท์วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
น.ส.วรัญญา ศรีริน อายุ 34 ปี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยา ดุษฏีนิพนธ์ เรื่องวัฒนธรรมทางการเมือวงกับการพัฒนาประชาธิปไตยในชุมชนท้องถิ่นอีสานเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. กล่าวว่า มีโอกาสได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องระมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังฟังคำวินิจฉัย ทำให้รู้สึกได้ว่า มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย
"ในฐานะที่เป็นนักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอก เห็นว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพอันเกิดจากกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งไม่ใช่แค่ ม.112 อาจจะเป็นกฎหมายอื่นด้วยที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญสังคมไทยยังมีอุปสรรคในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนของสังคมไทยและประชาธิปไตยของไทย”
น.ส.วรัญญา กล่าวต่ออีกว่า โดยส่วนตัวรู้สึกตกใจว่ากฎหมาย ม.112 จะไม่มีการปรับแก้ใดๆได้ หลังจากนี้คิดว่าพรรคก้าวไกลควรจะทำงานในส่วนของฝ่ายค้านต่อไปอย่างเข้มแข็ง และโครงสร้างของสังคมไทยต่อไป การเลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นปัญหาใหญ่ เรื่องการปรับโครงสร้างการศึกษา ที่พรรคก้าวไกลสามารถกระทำได้เลยยังทำงานที่เคยทำมาได้ตามปกติ หลังจากนี้สังคมไทยควรพูดคุยเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าก้าวไกลจะถูกยุบพรรคหรือไม่ถูกยุบพรรคส่วนตัวสนับสนุนทุกพรรคการเมืองที่ชูประเด็นเรื่องของประชาธิปไตยแบบแท้จริงไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่สนับสนุนเรื่องนี้แบบจริงจัง จะให้กำลังใจทุกพรรคและพรรคก้าวไกลด้วย
ขณะที่นายพัชรพงษ์ จุลสม อายุ 19 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มข.กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทย เพราะคนไทยต่างก็คิดว่าไม่ควรดึงเบื้องบนมาเกี่ยวข้องกับทางการเมือง จึงไม่แปลกใจที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ฉะนั้นไม่ว่าก้าวไกลจะอยู่ในสภาพใด หรือตั้งพรรคการเมืองชื่ออื่น ที่มีหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมาแทนชุดเก่า ก็ยังเชื่อว่าจะได้รับความนิยมเช่นเดิม
“พยายามปรับปรุงแก้ไขให้เห็นสิ่งที่บิดเบี้ยวในสังคมไทย การเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือใช้ในเรื่องของการโจมตีหรือเข้ามาใช้ในเรื่องการเมือง ไม่ควรดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือมาเป็นคู่กรณีกับประชาชนโดยตรงซึ่งขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลมาโดยตลอดรู้ว่าพรรคก้าวไกลอ่านเกมส์ผิดไม่ควรผลักดันเรื่อง ม.112 อีก ควรจะไปให้ความสำคัญในเรื่องปากท้องประชาชนเป็นหลักและเรื่องเศรษฐกิจ ควรปรับโครงสร้างพื้นฐานเรื่องอื่นๆก่อน ควรให้ความสำคัญตรงนั้นก่อนส่วนเรื่องแก้ ม.112 เอาไว้เมื่อประชาชนตระหนักรู้ ค่อยมาว่ากันก็ได้ ต่อให้พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรคก็ยังเชียร์ฝั่งประชาธิปไตยเหมือนเดิม เพราะรัฐที่ดีควรจะให้ประชาชนเข้าถึงประชาธิปไตย ก้าวไกลต้องอ่านเกมส์ให้เป็นว่าควรจะทำเรื่องไหนก่อน”
ด้าน รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์นั้น เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก้าวไกลต้องมาเจอกับจุดนี้ถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมที่คาดการณ์ไว้ก่อน
“เราเรียนรู้มานานแล้วว่าโครงสร้างของรัฐไทย อำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมฝั่งรากลึกมายาวนานทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยโดยมีพรรคการเมืองแนวประชาธิปไตยจะเป็นอุปสรรค ตอนนี้อำนาจที่แท้จริงยังไม่เป็นของประชาชน ขั้นตอนต่อไปหลังจากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าก้าวไกลมีความผิดเรื่องการแก้ไขมาตราประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ส่อว่าจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองและศาลสั่งให้ยุติการดำเนินกิจกรรมต่างๆ หลังจากนี้องค์กรอิสระคือ กกต. จะทำงานต่อนำคำพิพากษานำไปสู่การยุบพรรค ใช้เวลานานแค่ไหนขึ้นอยู่กับ กกต.
ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การยุบพรรคเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างชัดเจนและคำวินิจฉัยของศาลค่อนข้างแรงสะท้อนถึงแนวคิดอนุรักษนิยมที่ฉุดรั้งการพัฒนาของไทย ถึงพรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรคแต่พรรคก้าวไกลจะโตเหมือนเดิมยิ่งยุบยิ่งโตการเลือกตั้งครั้งหน้าความนิยมของพรรคก้าวไกลไม่ตกลง เพราะความนิยมจะมาจากแรงความสงสารความเห็นอกเห็นใจ”