'ม.เกริก'เร่งศึกษาตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"แบบบูรณาการทุกด้านทุกมิติ

'ม.เกริก'เร่งศึกษาตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"แบบบูรณาการทุกด้านทุกมิติ





ad1

นับแต่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่มีการหารือถึงการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลที่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกไปยังพี่น้องชาวมุสลิม ทั้งในตะวันออกกลางหรือแอฟริกาได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงเห็นควรให้ยกระดับความสำคัญของหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มีสถานะเป็นกรมอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสังคมมุสลิมไทยที่จับตามองการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าดำริของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อองคาพยพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานราชการอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรทางศาสนาอิสลาม รวมถึงแวดวงวิชาการ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยรัฐมนตรีว่าการประกาศรับลูกทันทีในประเด็นการศึกษาความเป็นไปในการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยการเรียกหน่วยงานกว่า 11 หน่วยงาน ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ฮาลาล ข้อสรุป

เบื้องต้นจากการพูดคุยต่อเนื่องหลายวาระเห็นพ้องให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ นอกจากนี้ในช่วงเริ่มต้นจะจัดตั้งเป็นหน่วยงาน (องค์การมหาชน) ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม และจะมีการผลักดันก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ รวมทั้งประสานการทำงานของหน่วยงานฮาลาลไทยที่มีอยู่เดิมทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมยังกล่าวถึงประเด็นข้อกังวลขององค์กรทางศาสนาอย่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้น กระทรวงย้ำว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรศาสนาจะยังคงเดิม เพียงแต่ต้องการให้มีหน่วยงานระดับกรมเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรที่บูรณาการวิชาบริหารธุรกิจเข้ากับหลักการของศาสนาอิสลามอย่างวิชาเอกการจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ วิชาเอกการเงินอิสลาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเอกอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industry) ที่มีการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮาลาล พร้อมขานรับนโยบายการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลของนายกรัฐมนตรี ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่สากลด้วยการสร้างมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ฮาลาล ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ตลอดจนธุรกิจการบริการ เป็นการสร้างความเชื่อถือในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศมุสลิมและประเทศที่มิใช่มุสลิม นอกจากวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพจะมีพันธกิจทางการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมฮาลาลแล้ว การสร้างเครือข่ายด้านฮาลาลระดับนานาชาติยังเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่วิทยาลัยให้ความสำคัญ อันเป็นการสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนด้านวิชาการระหว่างกัน โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างประเทศซาอุดิอาระเบียและมาเลเซียที่ตอบรับเข้าร่วมสร้างความร่วมมือเชิงวิชาการแล้วในเบื้องต้น

ด้านอาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านซาอุดิอาระเบีย ให้ข้อมูลว่า องค์การอาหารและยา ซาอุดิอาระเบีย หรือ Saudi Food and Drug Authority (SFDA) เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐบาลซาอุฯ ที่มีหน้าที่หลักคือ การรับรองความปลอดภัยของอาหาร ยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ ความปลอดภัยของสารชีวภาพและเคมี ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ และมีพันธกิจสำคัญคือการเป็นองค์การดูแลการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่สำคัญของโลก เนื่องจากซาอุฯ เป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ของโลก นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาซาอุฯ ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนาองค์กรด้านฮาลาล เนื่องด้วยมีระบบการทำงานและตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสากล และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย และที่สำคัญยิ่งเมื่อปี 2563 องค์การอาหารและยาซาอุฯ ได้ประกาศรับรองให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือ (Cooperation Bodies) ในเรื่องการออกประกาศนียบัตรฮาลาลกับศูนย์ฮาลาลขององค์การอาหารและยาซาอุฯ เป็นเรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าสินค้าไทยที่ได้รับเครื่องหมาย/ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับ (Mutual recognition) ขององค์การอาหารและยาซาอุฯ ด้วยเช่นกัน อันเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือและยกระดับความเชื่อมั่นด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศให้มีมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ อาจารย์อำพล ขำวิลัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ยังกล่าวอีกว่าประเทศมาเลเซียมีสถาบันวิจัยมาตรฐานและอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซีย (Standards and Industrial Research Institute of Malaysia, SIRIM) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้รัฐบาลมาเลเซีย มีหน้าที่หลักคือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และเป็นผู้นำด้านคุณภาพระดับประเทศ ในส่วนของกิจการฮาลาลนั้น SIRIM มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและจัดการอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฮาลาลทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการ ตลอดจนหลักสูตรสำหรับผู้ตรวจประเมินฮาลาล ผู้บริหารฮาลาล และหลักสูตรการบริการที่เป็นมิตรต่อมุสลิม (Muslim Friendly) และอีกหนึ่งองค์การอย่างองค์กรพัฒนาอิสลามของมาเลเซีย (Department of Islamic Development Malaysia, JAKIM) มีบทบาทสำคัญในการวางแผนบริหารจัดการกิจการศาสนาอิสลาม และมีส่วนงานหนึ่งที่มีหน้าที่เป็นหน่วยให้การรับรอง (Certification Body, CB) ตรวจประเมินการรับรองการใช้เครื่องหมายฮาลาลและออกใบรับรองฮาลาล รวมถึงมีหน้าที่ในการติดตามและการบังคับใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องตามแนวปฏิบัติตามมาตรฐานฮาลาลและศาสนบัญญัติอิสลาม

วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพตระหนักดีว่าการสร้างเครือข่ายด้านฮาลาลระหว่างไทยและต่างประเทศนั้น จะเป็นการกุญแจข้อมูลสำคัญและสามารถพัฒนาเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะความเห็นทางวิชาการของอาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอิสลามและอุตสาหกรรมฮาลาล กล่าวว่า “การยกระดับและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะในฐานะภายใต้องค์กรนิติบุคคล หน่วยงานองค์การมหาชน หรือกรมภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมก็ตาม แต่การศึกษารอบด้านเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับบทบาท ความรับผิดชอบ และการทำงานอย่างชัดเจนระหว่างองค์กรทางศาสนาและหน่วยงานราชการ เมื่อพิจารณาการทำงานร่วมกันของ SIRIM และ JAKIM จะเห็นได้ว่ามีการแยกบทบาทและหน้าที่อย่างชัดเจน กล่าวคือ องค์การที่มีหน้าที่หลักในการตรวจประเมินให้การรับรองเรื่องฮาลาลยังคงเป็นองค์การเกี่ยวกับกิจการศาสนาอย่าง JAKIM เนื่องจากเรื่องของฮาลาลเป็นเรื่องของและศาสนบัญญัติอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องมีความชำนาญในการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นทางศาสนา ในขณะที่เรื่องของมาตรฐานฮาลาลที่สามารถบูรณาการกับมาตรฐานสากลได้ และสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในด้านต่างๆ ได้นั้น ในส่วนนี้องค์การ SIRIM จะเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบโดยตรง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แต่ละองค์การมีศักยภาพในการพัฒนาในกิจการที่องค์การของตัวเองรับผิดชอบได้ดีที่สุดและสามารถบูรณาการร่วมกันได้อย่างเหมาะสม”

ในท้ายที่สุด วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับองค์การด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เพื่อศึกษาโมเดลที่เหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้เป็นยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลให้สมกับการนำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านฮาลาลหรือ Halal Hub ของประเทศไทยในอนาคต