สภาสูงโหวตคว่ำ!”พิธา”ไปไม่ถึงฝั่งตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรียกแรก

สภาสูงโหวตคว่ำ!”พิธา”ไปไม่ถึงฝั่งตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรียกแรก





ad1

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.50 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ปิดการอภิปราย เข้าสู่กระบวนการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีการเสนอชื่อ นายพิธา เพียง 1 รายชื่อ โดยการพิจารณาครั้งนี้ ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยวิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล

สำหรับผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ 376 เสียง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นอภิปราย เพื่อสื่อสารไปยัง ส.ว. ทุกท่าน ที่ตนได้เคยทำงานร่วมกันมาตลอด 4 ปี และท้ายที่สุดแล้วคิดว่าเราไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ 

นายพิธา ยังย้ำว่า วันนี้เป็นประตูแห่งโอกาสที่เราจะสามารถทำงานร่วมกันภายใต้รัฐบาลชุดต่อไป ในการแก้ปัญหาที่เราร่วมกันมาตลอด และความท้าท้ายใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาสู่ประเทศไทยที่เราจะต้องแก้ร่วมกันต่อไป

“ผมทราบดีกว่าหลายทั้งยังมีความแคลงใจในตัวผม แล้ววันนี้แสดงให้เห็นชัดว่า น่าจะเป็นเกี่ยวกับนโยบาย จุดยืน เกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ และวันนี้เมื่อฟังทั้งหมดแล้ว เป้าหมายของเราทั้งหมดเหมือนกัน เพียงแต่วิธีการที่จะประเมิน ที่จะเข้าถึง เป้าหมายนั้นต่างกัน ในมุมมองของตนแล้ว ที่จะทำให้เป้าหมายของเราตรงกัน คือ การธำรงค์ไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่คู่กับประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่อนุญาตให้ใคร ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการโจมตีกันทางการเมือง ดังนั้น จึงอยากให้ทุกท่านมองในระยะยาว มองไปถึงในอดีตด้วย ปัจจุบัน และอนาคต ที่ผ่านมาสถาบันถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีเครดิตทางสังคม ล้วนดึงสถาบันมาอ้างอิง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ว่าจะกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจ” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ถ้าวันนี้เราไม่ใช่กฎหมาย ม.112 มาเป็นเครื่องมือทำลายล้างกัน ความขัดแย้งของสังคมไทยคงไม่มาถึงจุดนี้  ดังนั้นชวนทุกคนมาร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อยุติการนำสถาบันมากล่าวอ้าง มาเป็นประเด็นทางการเมือง แล้วหากุสโลบาย เพื่อที่จะพัฒนา รักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันนี้ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จัดวางพระราชฐานะ วางพระราชอำนาจ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำแบบนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรารักถึงจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย

ทั้งนี้ การโหวตลงมติเสร็จสิ้นนับคะแนน ปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ผลการลงคะแนนปรากฎว่า เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง  เป็นอันว่านายพิธา ได้รับคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภาฯ ดังนั้นจึงถือว่ามติที่ประชุมไม่เห็นชอบการแต่งตั้งนายพิธา ให้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 272 วรรค 1 จากนั้นประธานรัฐสภาได้สั่งปิดประชุมในเวลา18.25น. คาดว่า จะมีการนัดประชุมเพื่อลงมติรอบสองในวันที่ 19 ก.ค.ต่อไป