จิตแพทย์ห่วงสังคมชินชา เหตุคลั่งยิง ร้องยกเลิกสวัสดิการซื้ออาวุธปืน

จิตแพทย์ห่วงสังคมชินชา เหตุคลั่งยิง ร้องยกเลิกสวัสดิการซื้ออาวุธปืน





ad1

จิตแพทย์ไม่สรุปเหตุหนุ่มคลั่งกราดยิงเพชรบุรี ดับ 3 ศพ เจ็บอีก 3 ราย มาจากการเลียนแบบหรือไม่ ห่วงสังคมชินชา จี้ต้นสังกัดติดตามผู้ถือครองอาวุธ ร้องยกเลิกสวัสดิการซื้ออาวุธปืน

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 25 66 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุชายคลั่งกราดยิงที่ จ.เพชรบุรี ว่า บทเรียนกรณีต่างๆ พบว่าเกิดขึ้นจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ผู้ที่มีอาวุธปืนส่วนใหญ่อยู่ในองค์กร เช่น ทหาร ตำรวจ อสส. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ องค์กรต้องทำหน้าที่ดูแลบุคลากร ไม่ใช่เกิดปัญหาก็ส่งต่อให้ระบบสาธารณสุขที่เป็นปลายทาง ต้องดูแลตั้งแต่ต้นด้วย มีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจที่ไม่จำกัดไว้ที่ส่วนกลาง เช่น กองทัพบกมีระบบติดตามที่ รพ.พระมงกุฏเกล้า หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี รพ.ตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่มีทุกพื้นที่ของประเทศ อย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัดเรื่องการดูแล

“เรียกร้องให้ยกเลิกซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ คำว่าสวัสดิการไม่เหมาะใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ขณะปฎิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้อง ก็ไม่ควรมีการครอบครอง เช่น เหตุกราดยิงที่เพชรบุรีจะพบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราว แม้ที่มาของอาวุธปืนจะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการนำเสนอข่าวเหล่านี้ กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่ามากจนเกินไป ห่วงว่าในอนาคตสังคมจะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง โดยพฤติกรรมความรุนแรงจากการนำเสนอข่าว จะเริ่มจาก 1. เลียนแบบหรือเป็นแบบอย่าง 2. ชินชา และ 3. ลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่ง กสทช.สามารถเข้ามาดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก สื่อออนไลน์ที่ลงทะเบียน เพราะบทเรียนจากการนำเสนอข่าวจะเห็นว่า ทุกครั้งมีบทเรียนไม่ซ้ำกันและดรามาความรุนแรงก็แตกต่างกัน ทั้งนี้ การติดตามข่าวแบบทุกนาทีหรือทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียดและท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากติดตามข้อมูลจากข่าว จะพบว่าผู้ก่อเหตุจัดการกับความรู้สึกของตนเองในเรื่องคดีความด้วยวิธีไม่เหมาะสม ด้วยการระเบิดความรุนแรง นำไปสู่การใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่น โดยไม่กลัวกฎหมายเพราะถูกครอบงำความคิดในเชิงเหตุผล ส่วนการใช้ยาเสพติดจะเกี่ยวข้องมากน้อยอย่างไรต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นเหตุของการใช้ความรุนแรงหรือเป็นอีกส่วนที่เขาใช้เพื่อจัดการกับอารมณ์ตนเอง

ทั้งนี้ ห่วงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเลียนแบบในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุครั้งนี้เกิดจากการเลียนแบบเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่รู้สติของตัวเองก็จะไม่ลอกเลียนแบบนี้เรื่องเช่นนี้ เรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเดียว ยังมีอีกหลาย ๆ องค์ประกอบ

“สังคมมีความเครียดสูงขึ้น เรายิ่งต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากขึ้น จะปล่อยตัวตามสิ่งแวดล้อมไม่ได้ กลับกันต้องมีสติ เรียนรู้การจัดการด้านความคิด อารมณ์ด้านลบของตัวเอง ยิ่งเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ยิ่งต้องสร้างความตระหนักให้ตัวเอง เพื่อลดความเครียด ความทุกข์ของตัวเองไม่ปล่อยให้เป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านี้” พญ.อัมพร กล่าว