พิษนโยบายคุมเข้มโควิด!เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าสุดในรอบเกือบ 50 ปี

พิษนโยบายคุมเข้มโควิด!เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าสุดในรอบเกือบ 50 ปี





ad1

เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ อย่างไร

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ปี 2565 ของจีนขยายตัว 3% ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปี 2565 จีนอาจจะขยายตัว 2.8% ซึ่งนับว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วที่ 5.5% แต่นับว่าสูงกว่าตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ และนับว่าต่ำกว่าปี 2564 อย่างมาก ซึ่งจีดีพีเติบโตถึง 8.4%

นอกเหนือจากช่วงเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหญ่ในปี 2563 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนับว่าอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2521 เมื่อจีดีพีตลอดทั้งปีขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งนับว่าตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม

ส่วนในไตรมาส 4 ปี 2565 ตัวเลขจีดีพีของจีนขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.8% เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา ทางการจีนยังใช้มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ที่รวมถึงการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานานถึง 2 เดือน ภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ จนทำให้ทางการจีน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลันและประกาศเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

ข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแสดงให้เห็นว่า ราคาบ้านสร้างใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนธันวาคม หรือลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อความต้องการ

ขณะที่ยอดค้าปลีกลดลง 0.2% แต่ยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคมลดลง 1.8% จากปี 2564 ซึ่งส่งผลไปยังการขยายตัวของสินค้าหลายชนิด ตั้งแต่การจัดเลี้ยง เครื่องสำอาง เครื่งประดับ และยา ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งสูงกว่า 0.2% ที่คาดการณ์ไว้โดยการสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คริสทาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยระบุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่จีนยังคงดำเนินการเปิดประเทศต่อไป หากจีนยังคงอยู่ในแนวทางนี้ ภายในกลางปีหรือช่วงนั้น จีนจะกลายเป็นผู้สร้างผลในเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยทั่วโลก