ห้องเย็นสายดาร์ก ... จุดพำนัก “หมูเถื่อน”

ห้องเย็นสายดาร์ก ... จุดพำนัก “หมูเถื่อน”





ad1

เส้นทางขนส่งหมูเถื่อนเข้าประเทศไทยในเกิดขึ้นในทุกทิศทาง ทั้งทางเรือ ทางสนามบิน และทางด่านชายแดน โดยแทบทุกเส้นทางล้วนมุ่งหน้าสู่ “จุดกระจายสินค้า” หรือ  DC (Distribution Center) พักรอเวลาก่อนกระจายสู่ลูกค้าปลายทาง ขณะที่หมูเถื่อนเป็นหมูแช่แข็ง จึงต้องการสถานที่ที่รักษาอุณหภูมิได้ด้วย DC ของหมูเถื่อนจึงเป็นที่อื่นไม่ได้นอกจาก “ห้องเย็น”

“ห้องเย็น” จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกจุดหนึ่งของระบบโลจิสติกส์หมูเถื่อน ที่ภาครัฐจับตามองและสามารถปูพรมการตรวจตราจับกุมเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วหลายคดี เช่นการเข้าตรวจห้องเย็นใน จ.สมุทรสาคร และพบซากสุกรลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลถึงกว่า 4 แสนกิโลกรัม หรือการเข้าตรวจห้องเย็นที่ จ.อุบลราชธานี พบซากขาไก่ผิดกฎหมายอีกเกือบ 12,000 กิโลกรัม โดยไม่มีหนังสืออนุญาตนำเข้าซากสัตว์  

 การตรวจสอบและการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ อยู่ภายใต้กฎหมายของกรมปศุสัตว์ ว่าด้วย “พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๘” เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่อาจติดมากับสัตว์หรือซากสัตว์ โดยปฏิบัติภายใต้มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว หากห้องเย็นไม่สามารถนำเอกสารต่างๆ มาแสดงความบริสุทธิ์ได้ภายใน 15 วัน ย่อมกลายเป็นผู้กระทำผิดกฏหมายและต้องรับโทษ อาทิ มาตรา ๓๑ ที่มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ตามปกติแล้ว ก่อนห้องเย็นจะรับฝากสินค้าเนื้อสัตว์นำเข้าแช่แข็งในสถานที่ของตน มักจะต้องตรวจสอบรายการสินค้าโดยต้องมีหลักฐานที่ครบถ้วน  อาทิ ใบรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (รน.) และใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์  (ร.3 หรือ ร.4) ที่จะระบุชนิดของเนื้อสัตว์-น้ำหนัก-ห้องเย็นปลายทาง-พาหนะที่ใช้ขนส่ง-ชื่อผู้ขับขี่พาหนะนั้น รวมถึงเส้นทางที่ใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความผิดตามกฏหมายต่างๆ ที่อาจมาถึงเจ้าของห้องเย็นได้  ยกเว้น “ห้องเย็นสายดาร์ก” ที่มีทั้งลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเสียเอง กับ รับจ้างแช่หมูเถื่อนโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดใดๆ แลกกับราคาค่าเช่าห้องเย็นที่น่าจะสูงขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเรียกห้องเย็นเหล่านี้ว่าเป็นพวก “รับของโจร” ก็คงไม่ผิด

 “ห้องเย็น” อยู่ภายใต้การดูแลของใคร?

กิจการห้องเย็นอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติ คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๘ การประกอบกิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็นจะกระทําได้ เฉพาะนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจํากัด บริษัทจํากัด บริษัทมหาชนจํากัด และสหกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็น โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายใน พ.ร.บ.นี้มุ่งวัตถุประสงค์ในการปกป้องผู้ฝากสินค้าให้เกิดความมั่นใจได้ว่าสินค้าของตนจะได้รับความปลอดภัยในการเก็บรักษา แต่พ.ร.บ.นี้ไม่มีมาตรการในการกำกับดูแลครอบคลุมถึงสินค้าที่รับฝากเก็บด้วยว่าต้องไม่เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ... นี่จึงอาจเป็นอีก “จุดอ่อน” ของกฏหมายบ้านเรา

ถึงกระนั้นก็ตาม การประสานความร่วมมือระหว่างกรม กอง ต่างๆ ยังคงเป็นไปได้ด้วยดี โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่ร้องขอ เพื่อกำจัด ขบวนการหมูเถื่อนนี้อย่างเต็มที่ อีกไม่นานห้องเย็นทั้งหมดจะถูกตรวจสอบแบบปูพรมจากการผนึกกำลังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในการขจัดของผิดกฎหมายที่มีอันตรายต่อผู้บริโภคชาวไทย 

เชื่อว่า ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากมีปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย เพราะบทลงโทษห้องเย็นที่รับฝากของโจรย่อมไม่ธรรมดา นอกจากจะถูกยึดของกลางมูลค่าหลายล้านบาทมาทำลายทิ้งทั้งหมด รวมถึงการถูกดำเนินคดีทั้งจำทั้งปรับตาม พรบ.ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หากห้องเย็นรายใดมีใบขออนุญาตนำเข้าซากสัตว์ กรมปศุสัตว์จะลงโทษหนักด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตนั้นทันทีด้วย 

ผู้ประกอบการห้องเย็นทุกแห่งสามารถที่จะช่วยตัดวงจรหมูเถื่อนออกไปจากประเทศไทยได้ เพียงตรวจสอบการนำสินค้าเข้าแช่แข็งอย่างรอบคอบทุกครั้ง และไม่ปฏิบัติตนเป็นห้องเย็นสายดาร์กเสียเอง ... เท่านี้ท่านก็ได้ช่วยเกษตรกร ช่วยคนไทย และช่วยตัวเองให้ปลอดภัยได้แล้ว   

 

โดย...ปฐพี สวัสดิ์สุคนธ์