ปธ.กมธ.กิจการสภาจับมือ"นราพัฒน์" ผช.รมต.เกษตรลงพื้นที่เมืองชาละวันติดตามนโยบายช่วยเกษตรกร

ปธ.กมธ.กิจการสภาจับมือ"นราพัฒน์" ผช.รมต.เกษตรลงพื้นที่เมืองชาละวันติดตามนโยบายช่วยเกษตรกร





ad1

วันที่ 9 กันยายน 2565 นายไพบูลย์  ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ให้การต้อนรับ นายอนันต์   ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายสุชาติ ศรีบุษกร  ส.ส.พิจิตร เขต 3 , นายพรชัย อินทร์สุข  ส.ส.พิจิตร เขต 1  , นายภูดิท อินสุวรรณ์ ส.ส.พิจิตร เขต 2  ประชุมติดตามการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างยั่งยืน ร่วมกับผู้แทนหมอดินอาสา และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำจังหวัดพิจิตร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามนโยบายของรัฐบาลในสายงานของกระทรวงเกษตรที่มีนโยบายต่างๆว่าสำเร็จลุล่วงประสบความสำเร็จตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

จากนั้นในช่วงบ่าย คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงสาธิตของ นายสมศักดิ์ พรมเดช  หมอดินอาสา บ้านหนองไข่เน่า หมู่ 6 ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี เดิมทำนาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ทำให้มีปัญหาดินเสื่อมโทรมเนื่องจากใช้ประโยชน์มานานและเป็นแหล่งสะสมสารเคมี  จึงแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านนำจุลินทรีย์จาวปลวกควบคู่กับใช้สารปรับปรุงบำรุงดินจากสถานีพัฒนาที่ดินทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ปัจจุบันปลูกพืชหลากหลายทั้งนาข้าว พืชสมุนไพร ไม้ผล และพืชผักสวนครัว ในพื้นที่กว่า 20 ไร่ ทำให้มีรายได้ตลอดปี ลดต้นทุนการเกษตรเนื่องจากใช้พืชสมุนไพรป้องกันและกำจัดแมลง ซึ่งถือเป็นเกษตรกรต้นแบบที่น่ายกย่อง

ซึ่งจากการศึกษาดูงานรับฟังจากเกษตรกรโดยตรง นายอนันต์   ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวชื่นชมเกษตรกรรายนี้ว่าเป็นการใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ในการพัฒนาดินอย่างครบวงจรทั้งเรื่อง ดิน -น้ำ- เมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะสามารถเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายผลไปยังพี่น้องเกษตรกรด้วยกันได้ เพราะวิธีดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการผลิต

ในส่วนของ  นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ กับ กระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้ได้มีการจับมือกันในการทำนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรต้องมีคุณภาพถูกใจผู้ซื้อ โดยใช้หลักกลยุทธ์การตลาดนำการผลิตอีกทั้งตัวเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรต้องพัฒนาตนเองให้มีองค์ความรู้ก่อนการผลิตและเข้าใจถึงกลไกการตลาด อีกทั้งในอนาคตอันใกล้นี้กระทรวงเกษตรฯ ก็จะสร้างระบบโซนนิ่งช่วยวางแผนให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ผลิตหรือเพาะปลูกสินค้าการเกษตรให้เหมาะสมกับภูมิประเทศโดยต้องถอดบทเรียนจุดแข็ง-จุดอ่อน จากการทำเกษตรแปลงใหญ่รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรแปลงใหญ่กลุ่มละ 3 ล้านบาท ให้เป็นจุดแข็งของการผลิตและการตลาดต่อไปอีกด้วย

สิทธิพจน์  เกบุ้ย ผู้สื่อข่าวจังหวัดพิจิตร