สยามนี้มีเรื่องเล่า : ประปาแห่งสยาม

ประปาสยาม

สยามนี้มีเรื่องเล่า : ประปาแห่งสยาม





ad1

(คอลัมนิสต์)                                                    สยามนี้มีเรื่องเล่า : ประปาแห่งสยาม                  โดย...ดร.สุวิจักขณ์ ภานุสรณ์ฐากูร

     วันนี้ผมได้ไปจ่ายค่าประปาในที่การประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งสถานที่ดังกล่าว ได้เห็น พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ขนาดใหญ่ โดยมีข้อความระบุว่า กำเนิดประปาในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีรูปภาพทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการวางท่อประปาให้ดูด้วย 
     ครับนั่นจึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้ ที่ผมจะนำทุกท่านไปสู่เรื่องราวซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประปาในสยามประเทศ แต่ก่อนที่เราจะไปตามหาเรื่องราวในอดีต ผมอยากจะเกริ่น เพื่อพอจะให้เห็นถึงความสำคัญ ในเรื่องบางอย่างตรงนี้ก่อน


     ระหว่างบ้านเรา ไม่มีไฟฟ้าหรือไม่มีประปาเหตุเนื่องจากการซ่อมแซมบำรุง ท่านว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญ กว่ากัน ซึ่งจริงๆแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นความจำเป็นทั้งสองอย่างนั่นแหละ 
     แต่สำหรับผมแล้ว ผมว่าน้ำประปาจำเป็นมากกว่า ไม่มีแสงสว่างเราใช้แสงเทียนได้ ไม่มีไฟฟ้าอาจจะไม่สะดวกอะไรหลายอย่าง แต่การที่ไม่มีน้ำประปาชำระในห้องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ถ้าไม่มีน้ำจะชำระอย่างไร เรื่องใหญ่มาก!!!
     น้ำเป็นต้นกำเนิด ของสิ่งมีชีวิต เป็นต้นขั้วของห่วงโซ่ทานอาหาร เราจะสังเกตเห็นว่า การสร้างบ้านแปงเมืองสมัยก่อนนั้น นึกถึงแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ไฟฟ้ายังไม่มี แต่การเกษตรเกิดขึ้นมานานแล้ว ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 
     ดังนั้นน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ มากที่สุด ไม่ว่าจะนับในช่วงไหน ของมวลมนุษยชาติก็ตาม ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศ ย่อมยึดเอาที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นสำคัญในการ สร้างบ้านแปงเมือง รวมถึง ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักร
     ต่อไปนี้เป็นบางส่วนของบทความที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน ของผู้คนในจังหวัดลำพูน ย่อมเน้นบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเป็นสำคัญ
*****การสร้างบ้านแปงเมืองลำพูน ก็โดยยกชุมชนชาวยองเข้าไปตั้งถิ่นฐานตามลุ่มน้ำต่าง ๆ จากบริเวณรอบ ๆ เมืองลำพูน ตามความเห็นชอบของพวกเจ้าที่ต้องการเรียกใช้แรงงานมีฝีมือจากผู้อพยพ ก็จะถูกกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แล้วผู้คนก็กระจายไปตั้งถิ่นฐานตามลุ่มน้ำแม่สารในเขตตำบลเวียงยองและตำบลป่าสัก และอีกบางส่วนให้ไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำทารอบ ๆ เวียงป่าซาง ซึ่งเป็นไปตามกรรมสิทธิ์ของมูลนายแต่ละคนต่อข้าทาสที่ได้รับส่วนแบ่งจากสงครามคร้งนั้นนั่นเองเหมืองฝาย : ระบบเศรษฐกิจที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่*****
     ย้อนกลับไปใน สมัยอาณาจักรสุโขทัย ในขณะนั้นมีโครงการประปาเกิดขึ้นแล้ว รู้เรื่องนี้จากหลักศิลาจารึก ที่บันทึกเอาไว้เกี่ยวกับ บ่อน้ำกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งใช้เป็นที่ดื่มของประชาชนโดยทั่วไป กล่าวกันว่าเป็นน้ำที่ใสสะอาดดี 
     อีกทั้งยังได้ค้นพบ ท่อประปา ซึ่งทำจากดินเผาขนส่งน้ำจากบริเวณที่กักเก็บ มาใช้ในเมืองด้วย
     ถัดมาในสมัยของกรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรี ได้มีการจัดวางท่อประปา ขึ้น ท่อประปาในยุคนั้น ก็เป็นท่อประปา แบบเดียวกันกับสมัยสุโขทัย คือ ทำขึ้นจากดินเผานั่นเอง 
     การที่ท่อประปาจะเชื่อมกันได้นั้น ด้านหนึ่งของท่อ จะถูกบานให้มีขนาดใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อที่จะได้เอาท่ออีกท่อนหนึ่งสวมเข้าไปได้ เป็นไปในลักษณะใกล้เคียงกับปัจจุบัน
     ถัดจากนั้นมาอีก ประมาณ 200 กว่าปี ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้เกิดโรคระบาดขึ้น ซึ่งโรคระบาดในครั้งนั้นมาจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด อันนี้ส่งผลให้เกิดการล้มตายของผู้คนเป็นจำนวนมาก
     เชื้อโรคมาทางน้ำและคร่าชีวิตของผู้คนไปมากมาย ปราศจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการอุปโภคบริโภคน้ำ คนในยุคนั้นเข้าใจว่า โรคที่เกิดขึ้นเกิดจากห่ากิน (ห่าในที่นี้ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นสัตว์ร้ายชนิดหนึ่ง)
     เป็นเหมือนปีศาจอะไรประมาณนั้น จึงทำให้ผู้คน เวลานั้นยามกลางค่ำกลางคืน จะหลบอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน เรื่องการเสียชีวิตนั้น นับหลักหมื่นคนเลยทีเดียว 
     ไม่ได้ขอนอกเรื่องนะครับ อยากจะกล่าวอะไรเพื่อให้เห็นภาพ โรคร้ายในวันวาน ผมไม่คิดเลยว่าในชีวิตของผม จะมีโอกาสได้เห็นเรื่องราวเหมือนในครั้งเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาแล้ว มาอุบัติขึ้นในปัจจุบันได้อีก นั่นก็คือโรคโควิด 19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ 
     หากแต่ว่าโรคชนิดนี้ไม่ได้มากับน้ำแต่มาทางอากาศ และสามารถแพร่กระจายได้โดยง่าย เพียงแค่คุยหรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค ก็สามารถติดโรคโควิดได้แล้ว
     ขณะนี้ประชาชนเจ็บป่วยกันมาก และล้มตายกันมากด้วยเช่นกัน จริงอยู่ถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็นับว่าโรคนี้เป็นโรคร้ายที่น่าสะพรึงจริง ๆ 
     ในวันวานทั้งกรุงเทพฯและ ธนบุรี มีประชากรรวมกันทั้งหมด 330,000 คน ถ้าเสียชีวิตกันนับหมื่น ก็ลองคิดดูครับว่า เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
     ดังนั้น ครั้งเมื่อมาในแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป  
     ทำให้พระองค์ได้เห็นถึงความเจริญ ของประเทศเหล่านั้น และจึงได้นำรูปแบบความเจริญเหล่านั้นเข้ามาพัฒนาปรับปรุงให้กับสยามประเทศ 
     หนึ่งในเรื่องเหล่านั้นก็คือเรื่องของการประปา เพราะทรงเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง กับการอยู่ดีกินดีของประชาชน รวมถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การยอมรับในความเป็นอารยะประเทศ เช่นประเทศทางตะวันตก 
     นอกจากเรื่องของประปาแล้วยังมีเรื่องของไฟฟ้า รถยนต์ รถราง การตัดถนน การขุดคลองชลประทาน และอื่น ๆ อีกมากมายอันนับว่าเป็นประโยชน์เอนกอนันต์กับประเทศชาติ  
     ครับและนี่เป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนเกี่ยวกับการประปา ในประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ครับ...


     13 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลนำน้ำมาใช้ในพระนครตามแบบอย่างที่สมควรแก่ภูมิประเทศ
     โดยให้จัดทำที่น้ำขังที่คลองเชียงราก แขวงเมืองปทุมธานี แล้วให้ขุดคลองแยกจากที่ยังน้ำนั้นเป็นทางน้ำลงมาถึงคลองสามเสนฝั่งเหนือ ตามแนวทางรถไฟ และตั้งโรงสูบนำแล้วกรองให้น้ำสะอาด 
     เพื่อจำหน่ายน้ำไปในที่ต่าง ๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกตามภาษาสันสกฤต เพื่อจะให้เป็นคำสั้นว่า "การประปา" 
     ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จมาทรงเปิดกิจการโดยมีชื่อเรียกในครั้งนั้นว่า "การประปากรุงเทพฯ” มีกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน กิจการประปาได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ 
     จากที่เคยจำหน่วยเฉพาะในเขตพระนคร ได้ขยายการจำหน่ายไปยังฝั่งธนบุรี ต่อมาได้มีการรวมและโอนกิจการประปาไฟฟ้าให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการประปานครหลวง ให้โอนกิจการประปากรุงเทพฯ การประปานนทบุรี การประปาเทศบาลนครธนบุรี และประปาเทศบาลสมุทรปราการ รวมเป็นกิจการเดียวกันเรียกว่า "การประปานครหลวง” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2510  
     ปัจจุบันการประปานครหลวงได้พยายามพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน จนได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ISO 9002 ดังคำขวัญที่ว่า "น้ำประปาดื่มได้ มั่นใจเต็มร้อย"...