"อนุทิน"เปิดอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น-วันครบรอบตั้ง 48 ปี รพ.อำนาจเจริญ

"อนุทิน"เปิดอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น-วันครบรอบตั้ง 48 ปี รพ.อำนาจเจริญ





ad1

อำนาจเจริญ-รมว.สธ.ลงพื้นที่อำนาจเจริญพิธีเปิดอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้นรพ.อำนาจเจริญและงานวันครบรอบจัดตั้ง 48 ปี รพ.อำนาจเจริญ พร้อมประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 กับคณะผู้บริหารในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10  ตลอดทั้งประชุม “มอบนโยบาย อสม. หมอประจำบ้าน พลังแห่งการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพเข้มแข็ง” กับอสม.ในพื้นที่ จากนั้นพบปะเยี่ยมให้กำลังใจกับประชาชนที่มารอรับบริการวัคซีน และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

เมื่อวันที่  19 พฤศจิกายน 2564  เวลา 10.00 น. ณ บริเวณด้านหน้าอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น โรงพยาบาลอำนาจเจริญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเปิดอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น และงานวันครบรอบจัดตั้ง 48 ปี โรงพยาบาลอำนาจเจริญ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลอำนาจเจริญและการให้บริการทางการแพทย์ของทีมงานด้านสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายทวีป  บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 คณะผู้บริหารในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 และหัวหน้าส่วนราชการ อสม.ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญให้การต้อนรับ

โดยโรงพยาบาลอำนาจเจริญมุ่งมั่นพัฒนางานด้านสาธารณสุข และเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาลและมีศักยภาพในการให้บริการแก่ประชาชนทั้งในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียง จนได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 330 เตียง การเปิดอาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มีความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการด้านการแพทย์อย่างสะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการแออัด ลดระยะเวลารอคอย และล ดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 

จากนั้นเวลา 10.30 น.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 ณ ห้องประชุมอาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 5 โรงพยาบาลอำนาจเจริญ โดยมีนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 นำคณะผู้บริหารในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง  

สำหรับนโยบายการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ  ให้ทุกคนยึดมั่นแนวนโยบายของรัฐบาล และการสนองโครงการพระราชดำริ ทางด้านสาธารณสุข ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ เป็นลำดับแรก ส่วนการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง นำองค์ความรู้ ด้านสาธารณสุขสร้างชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิมในปี 2565 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “ประชาชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” 

โดยมี 9 ประเด็น ที่สำคัญ คือ  1. การใช้มาตรการสาธารณสุขขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำพาประเทศ กลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยยึดความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ  2. พัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐ ให้สาธารณสุขไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด อุบัติใหม่ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ  3. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการแพทย์ปฐมภูมิ ด้วย 3 หมอ อสม. หมอประจำบ้าน หมออนามัย และหมอครอบครัว เป้าหมาย คือ คนไทยมีหมอประจำตัว 3 คน (30 ล้านคน) 

และการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ  ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 จำนวน 3,000 ทีม 4. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นศูนย์การสาธารณสุขประจำตำบล ให้บริการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อ “ชุมชนสุขภาพดี  พึ่งตนเองได้”  5. พัฒนาและบูรณาการสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมทั้งด้าน สมอง  จิตใจ  ฟัน ตา หู และหัวใจ  7. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพงานบริการต่อยอด 30 บาท “รักษาทุกที่ ไม่ต้องมีใบส่งตัว” เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยากด้านเอกสาร และรายจ่ายของประชาชน  8. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการรักษามะเร็ง รักษาทุกที่ ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ที่รวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

 9. พัฒนาพืชสมุนไพร  กัญชา กระท่อม และภูมิปัญญาไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ประชาชน ผมขอชื่นชมจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้มีแผนในการพัฒนาแหล่งปลูกและผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีศูนย์แพทย์แผนไทยอำเภอพนา ที่เป็นแหล่งผลิตสมุนไพร เพื่อนำมาใช้ในการให้การรักษาผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน  10. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นศูนย์ข้อมูลกลางสุขภาพประชาชน เพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขส่วนบุคคลอย่างรวดเร็ว ภายใต้การดำเนินงานรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และมีมาตรฐาน   

ขณะเดียวกันพบปะให้กำลังใจของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข คือ ภารกิจสำคัญ ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนการบรรจุข้าราชการใหม่ในสังกัด 45,242 ตำแหน่ง การจัดสรรค่าตอบแทนเงินเพิ่มพิเศษ การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติ ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่และค่าตอบแทนฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกสถานบริการ ทุกท่านครับ เราต้องอยู่กับโควิด 19 ให้ได้ อย่างปลอดภัย ที่สำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนนโยบายนอกจากบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขแล้ว บุคคลที่มีความสำคัญในการต่อสู้โควิด 19 คือ บุคลากรจากกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ธุรกิจบริการการท่องเที่ยว และภาคประชาชนทุกส่วนในพื้นที่

จากนั้นในเวลา 11.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดการประชุม “มอบนโยบาย อสม. หมอประจำบ้าน พลังแห่งการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพเข้มแข็ง” ณ  ห้องประชุมชัยพฤกษ์ ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา โรงพยาบาลอำนาจเจริญ โดยมีคณะผู้บริหารในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 และ อสม.ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเข้าร่วมประชุม 

รมว.สธ.กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย“คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” โดยทุกครอบครัวจะมี หมอคนที่ 1 คือ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน ช่วยดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน 8 - 15 หลังคาเรือน อสม. มีความสำคัญในระบบสาธารณสุข เพราะท่านรู้จักทุกบ้าน ทุกคน และเคาะประตูบ้านมาแล้วทุกหลัง ประเทศไทยโชคดีที่มีการวางระบบ อสม. เพื่อทำหน้าที่สื่อสารวิธีการดูแลสุขภาพระหว่างพี่น้องประชาชนและแพทย์ การดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะนอกเขตเมือง ขึ้นอยู่กับพวกท่าน 

การปรับเปลี่ยนประเทศเพื่อให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดี เริ่มต้นด้วยฝีมือการเคาะประตูบ้าน ที่ผ่านมา พี่น้อง อสม. ช่วยในเรื่องการตรวจลูกน้ำยุงลาย การวัดความดัน ตรวจน้ำตาล ให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่  และการใช้แอพพลิเคชั่น Smart อสม. ในการส่งข้อมูลไปยัง หมอคนที่ 2 คือหมอสาธารณสุข ที่จะให้การรักษาเบื้องต้นในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. ก่อนถึงมือหมอคนที่ 3 คือ หมอครอบครัว ที่เป็นแพทย์และทีมพยาบาลประจำคลินิกหมอครอบครัว หมอ 1 คน รับผิดชอบประชาชน 10,000 คน ประมาณ 1 - 3 ตำบล   หมอประจำตัวทั้ง 3 คน จะทำงานร่วมกันในการดูแลให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่ 

นโยบายนี้จะทำให้คนไทยทุกคน ทุกครอบครัว มีหมอดูแลทุกระดับของการเจ็บป่วย ช่วยลดความแออัด ลดการรอคอยในโรงพยาบาล ถ้า อสม.ช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ปรึกษาแพทย์ในระบบรักษาทางไกล Telemedicine ได้ด้วย จะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น   ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พี่น้อง อสม. คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง จนทั่วโลกให้การชื่นชม  

จากนั้นในช่วงบ่ายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและพบปะพูดคุยกับประชาชนที่มารอรับบริการวัคซีน และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน  ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีน หอประชุมพุทธอุทยานอำนาจเจริญ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ  จากข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จังหวัดอำนาจเจริญมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 191,927 คน คิดเป็นร้อยละ 50.51

 ทิพกร  หวานนอ่อน /จังหวัดอำนาจเจริญ  รายงาน