นายกฯ ปลื้มสูตร “อาหารกลางวันนักเรียน” ภายใต้งบ 21 บาท แนะขยายผลทั่วประเทศ

นายกฯ ปลื้มสูตร “อาหารกลางวันนักเรียน” 21 บาท

นายกฯ ปลื้มสูตร “อาหารกลางวันนักเรียน” ภายใต้งบ 21 บาท แนะขยายผลทั่วประเทศ





ad1

ปัจจุบันเด็กนักเรียนไทยราว 30-40% มีปัญหาขาดสารอาหาร 4 ชนิด คือ ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม เด็กวัยเรียนจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหาร ที่มีคุณค่าตามโภชนาการ เพื่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสติปัญญา โดยเฉพาะธาตุเหล็กและไอโอดีน เพราะหากได้รับไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะซีด และเป็นโรคโลหิตจาง กระทบต่อการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และหากเจ็บป่วยง่าย อาจต้องขาดเรียนบ่อย ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ที่สำคัญผลการศึกษาชี้ว่า “เด็กที่ขาดสารอาหาร” จะมีแนวโน้มเรียนไม่จบอีกด้วย!
.
▪️ ต้นแบบ “สูตรอาหารกลางวัน” ภายใต้งบประมาณที่จำกัด
.
วานนี้ (26 เม.ย. 2565) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านประสบการณ์อาหารกลางวันโรงเรียน (Lunch and Learn Project) ภายใต้งบ 21 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งสามารถพัฒนาขยายผลลงสู่สถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป ตามที่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9  ก.พ. 2564 มีมติเห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน เพิ่มอีก 1 บาท จากหัวละ 20 เป็น 21 บาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป 
.
โครงการดังกล่าวสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. ได้ดำเนินการร่วมกับเชฟ นักสร้างสรรค์อาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ นักเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เป้าหมาย 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ รวม 9 โรงเรียน พัฒนารายการอาหารด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อศึกษาระบบการจัดการอาหาร และสูตรอาหารกลางวัน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยมีเมนูต้นแบบนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. Kwantip’s fried chicken มันบด โคลสลอว์ฝรั่งกิมจู 2. ข้าวไก่อบซอสเทอริยากิ ไข่ต้มซีอิ๊ว เฉาก๊วยนมสด และ 3. ข้าวกับแกงโฮ๊ะหมู กล้วยน้ำว้า
.
▪️ ยังพบปัญหาขาดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนนั้น รัฐบาลอุดหนุนให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ 5,894,420 คน ในโรงเรียน 49,861 แห่ง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 25,436,304,000 ล้านบาท โดยแบ่งอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 23,561,921,200 ล้านบาท และจัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนเอกชนอีก 1,874,382,800 บาท
.
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่าแม้รัฐจะมีการสนับสนุนอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) แก่นักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับอนุบาล – ป.6 แต่ในกลุ่มเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาส ยังพบปัญหาขาดการได้รับอาหารคุณภาพอีก 165 วัน แม้จะได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน รวมไปถึงเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนค่าอาหารในโรงเรียนเลย ดังนั้น ความเสมอภาคทางการศึกษา จึงรวมไปถึงภาวะสุขภาพและโภชนาการของเด็กด้วย
.
▪️ “อาหารที่โรงเรียนคือมื้ออาหารที่ดีที่สุด” สำหรับนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ
.
ทั้งนี้ ท่ามกลางงบประมาณอาหารกลางวัน ที่ได้รับจัดสรรในวงเงินที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถทำอาหาร ที่หลากหลายและครบถ้วนมากนัก แต่ กสศ. ระบุว่าสำหรับนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ “อาหารที่โรงเรียนคือมื้ออาหารที่ดีที่สุด” และที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วนมากกว่าที่บ้าน สะท้อนจากการสำรวจที่พบว่า วันเปิดเทอมของทุกปี จะเป็นวันที่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ มีน้ำหนักน้อยที่สุด จากการจดบันทึกติดตามของครูประจำชั้น แสดงให้เห็นว่ายิ่งปิดเทอมนาน ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ยิ่งในสถานการณ์โควิด19 นักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศ กำลังเผชิญกับผลกระทบสำคัญ คือ ไม่มีข้าวกินต้องอดมื้อกินมื้อ
.
ส่วนโรงเรียนในสังกัด กทม. นั้น ได้รับเงินอุดหนุนทั้งค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวัน 40 บาทต่อคนต่อวัน โดยปกตินักเรียนจะมีข้าวกินฟรี แบ่งเป็นมื้อเช้า 15 บาท และมื้อกลางวันได้ 25 บาท แต่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด19 แต่เมื่อมาเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ จึงให้ผู้ปกครองมารับเงินค่าอาหารกลางวัน เป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนที่โรงเรียน เพื่อนำไปซื้ออาหารให้ลูกหลานรับประทานที่บ้าน