กรมศุลกากรจับ2ผู้ต้องหาชาวบราซิลลอบขนเข้าโคคาอีนมูลคากว่า 22 ล้าน

กรมศุลกากรจับ2ผู้ต้องหาชาวบราซิลลอบขนเข้าโคคาอีนมูลคากว่า 22 ล้าน





Image
ad1

กรมศุลกากรจับกุมผู้โดยสาร สัญชาติบราซิล ลักลอบนำเข้าโคคาอีน มูลค่ากว่า 22 ล้านบาท คาสนามบินสุวรรณภูมิ

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหาร การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และจำหน่าย ยาเสพติด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดในทุกช่องทาง พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหาร การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร

ทั้งนี้กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามได้บูรณาการร่วมกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลการข่าว พบว่าจะมีผู้โดยสาร 2 ราย เป็นหญิงชาวบราซิล อายุ 26 ปี และชายชาวบราซิล อายุ 27 ปี มีความเสี่ยงในการลักลอบนำยาเสพติดให้โทษเข้ามาในราชอาณาจักร เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติซัลวาดอร์ เมืองซัลวาดอร์ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และเปลี่ยนเที่ยวบิน ที่ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส ชาร์ล เดอ โกล ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย 

ทางเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจับกุมจึงได้สังเกตการณ์บริเวณสายพานรับกระเป๋าหมายเลข 18 ซึ่งเป็นสายพานรับกระเป๋าของสายการบินแอร์ฟรานซ์ (AIR FRANCE) พบชายและหญิงชาวบราซิล มีลักษณะตรงตามข้อมูลที่สืบค้นมา จึงได้ติดตามจนถึงช่องตรวจของศุลกากร ซึ่งชายและหญิงต้องสงสัยดังกล่าวได้แสดงเจตนาเข้าช่องเขียว (ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง) ฝั่งตะวันออก โซน B ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวพร้อมบัตรประจำตัวพนักงานศุลกากร และขอให้แสดงหนังสือเดินทางพร้อมทั้งนำกระเป๋าสัมภาระ เข้าเครื่องเอกซเรย์

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายเอกซเรย์เบื้องต้น พบว่าภายในกระเป๋าเดินทางทรงอ่อน มีล้อลาก ทั้ง 2 ใบ น่าจะมีสิ่งผิดปกติอยู่ภายในกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้สอบถาม และให้บุคคลทั้งสองเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบวัตถุต้องสงสัยมีลักษณะเป็นแผ่นห่อหุ้มด้วยกระดาษคาร์บอนสีดำอยู่บริเวณผนังและพื้นกระเป๋า เมื่อเปิดออกพบห่อพลาสติกใสด้านในบรรจุผงสีขาว เจ้าหน้าที่ฯ จึงตรวจสอบผงสีขาวด้วยน้ำยาทดสอบ ONCB052 COBALT THIOCYANATE REAGENT พบว่าวัตถุดังกล่าวทำปฏิกิริยากับน้ำยาเคมีทดสอบจากใสไม่มีสี เปลี่ยนเป็นสีฟ้า ซึ่งเป็นลักษณะของยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน น้ำหนัก 7,400 กรัม มูลค่าประมาณ 22,200,000 บาท 

กรณีนี้ เป็นการนำยาเสพติดให้โทษประเภท2 (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า  กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัย โดยเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดและสินค้าตามนโยบายรัฐบาล สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 6 พฤษภาคม 2568) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด   ทั้งสิ้น 140 คดี มูลค่ารวม 800.67 ล้านบาท