ขนลุก!กองทัพแมลงปีกแข็งนับหมื่นบุกยึดบ้าน ต้องหนีลงนอนกางมุ้งนอนชั้นล่าง


ปราจีนบุรี-กองทัพแมลงปีกแข็งนับหมื่นตัว บุกยึดบ้าน ไต่ยั้วเยี้ย ต้องหนีลงชั้นล่าง กางมุ้งนอน จำใจยกห้องให้อยู่ เผยมาเป็นประจำทุกปีนาน 3-4 เดือน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2568 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี ได้รับแจ้งว่ามีฝูงแมลงปีกแข็งนับหมื่นตัวมาอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 6 บ้านโคกชัน ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเจ้าของบ้านตัดสินใจยกห้องให้ฝูงแมลงปีกแข็งอยู่ ส่วนครอบครัวต้องพากันย้ายหนีลงมานอนที่ชั้นล่าง ขณะที่ฝูงแมลงปีกแข็งพากันเดินไปมาอยู่บนพื้นบ้านตลอดเวลา ตอนนอนต้องใช้วิธีกางเต็นท์นอนภายในบ้าน เพื่อป้องกันแมลงปีกแข็งเข้าหู เข้าปาก จมูก ตา และไต่ตามร่างกาย
นางมยุรี โพธิ์เกิด เจ้าของบ้าน พาขึ้นไปดูฝูงแมลงปีกแข็งที่อยู่บนชั้นบนของบ้าน ซึ่งเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง 2 ชั้น ภายในห้องพบฝูงแมลงปีกแข็งนับหมื่นตัวกระจายยั้วเยี้ยกันอยู่ตามมุมอับต่างๆ ทั้งซอกขื่อ ฝาบ้าน บนเสื้อผ้า รวมถึงใต้ที่นอน สร้างความขยะแขยงขนลุกอย่างมาก
นางมยุรี กล่าวว่า แมลงปีกแข็งมาอาศัยอยู่เหมือนเดิมประจำทุกปี ตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. จะพากันมาเต็มบ้านจนถึงหมดช่วงฤดูฝน นาน 3-4 เดือน ต้องทนอยู่กับมัน เพราะเป็นธรรมชาติ ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำได้แค่ฉีดยาฆ่าแมลงกำจัด แต่ก็ได้แค่ทุเลาลงเล็กน้อย ต้องกางเต็นท์นอน กลัวแมลงจะเข้าหู ที่บ้านก็เลี้ยงหลานน้อยต้องยิ่งระวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า แมลงดังกล่าว เรียกว่า “ด้วงกระเบื้อง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลฟิโทเบียส ดิอะเพอรินัส (Alphitobius diaperinus) จัดอยู่ในกลุ่มแมลงปีกแข็ง พบได้ทั่วโลก แต่จะพบมากในเขตร้อน รวมทั้งในประเทศไทย
ด้วงชนิดนี้บินได้ไกลพอสมควร ชอบบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากพืชที่ชื้นหรือขึ้นรา รวมทั้งวัตถุที่เน่าเปื่อย มักจะพบเห็นในช่วงฤดูฝน เข้ามาอยู่ในที่อยู่อาศัยของคนได้ โดยเฉพาะบริเวณบ้านหรือรอบๆ บ้านที่มีกองปุ๋ย มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก เศษไม้ผุพัง เป็นป่า หรือมีเล้าเป็ดเล้าไก่
แมลงชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน แต่สามารถปล่อยสารจำพวก เบนโซควิโนน (Benzoquinones) ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู เมื่อมีเป็นจำนวนมากอาจทำให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ โดยทำให้เกิดผื่นแดง โรคผิวหนัง หอบหืด รวมทั้งทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดศีรษะ จมูกอักเสบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้าแมลงมาสัมผัสตัวมนุษย์ ตามลำตัวและขาของแมลงซึ่งมีหนามแหลม อาจขีดข่วนตามผิวหนัง ผู้ที่แพ้จะมีอาการคัน บวมแดงหรือเป็นผื่นแพ้ได้ หากถูกแมลงขีดข่วนให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ถ้ามีอาการคัน พยายามอย่าเกา ให้ทาด้วยยาคาลาไมน์ หรือถ้ามีการอักเสบให้ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม
การกำจัดด้วงกระเบื้องทำได้โดยเตรียมน้ำละลายผงซักฟอกใส่ภาชนะนำไปวางไว้ใต้ดวงไฟนอกบ้าน เพื่อดักแมลงที่มาเล่นไฟให้จมน้ำตาย รวมทั้งสามารถฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงตามบริเวณแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์นอกบ้าน เช่น บริเวณโพรงไม้ผุใต้กองไม้ชื้น หรือกองซากพืชทับถม รวมทั้งบริเวณกองมูลสัตว์หรือปุ๋ย
โดยสารเคมีที่ใช้เป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น ไซฟลูทริน, เดลตามิทริน, ไซเพอร์เมทริน เป็นต้น เมื่อสารถูกตัวด้วงกระเบื้อง จะทำให้แมลงตายได้ รวมทั้งจะมีฤทธิ์ตกค้างบริเวณที่ฉีดพ่น ประมาณ 3-6 เดือน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำให้ด้วงไม่มาเกาะอีก
อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เมื่อพ่นสารใหม่ๆ ไม่ควรให้คนหรือสัตว์เข้าในพื้นที่จนกว่าสารจะแห้งดี และสามารถพ่นซ้ำได้อีก ทั้งนี้ หากต้องการพ่นตามผนังอาคารบ้านเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาเกาะ ควรเลือกใช้สารไซฟลูทริน แบบสูตรผงละลายน้ำหรือสูตรดับเบิลยูพี (WP) สารเคมีจะเกาะที่ฝาผนังได้ดีมีผลป้องกันได้ 6 เดือน
### มานิตย์ สนับบุญ -ข่าว/ทองสุข สิงห์พิมพ์ – ภาพ / ปราจีนบุรี ###