"เมื่อบ้านที่อบอุ่น ยังไม่ต้อนรับทุกคน: ความเหลื่อมล้ำของ LGBTQ+ ในที่ทำงานไทย"

"เมื่อบ้านที่อบอุ่น ยังไม่ต้อนรับทุกคน: ความเหลื่อมล้ำของ LGBTQ+ ในที่ทำงานไทย"





Image
ad1

รองศาสตราจารย์ ดร.จรัมพร โห้ลำยอง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า   แม้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ มากที่สุดในเอเชีย โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ในปี 2568 ซึ่งถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์สำคัญ ที่สะท้อนภาพ “บ้านที่อบอุ่นของชาว LGBTQ+” แต่เบื้องหลังภาพลักษณ์ของ “บ้านที่อบอุ่น” กลับยังซ่อนมุมมืดของความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะใน "ห้องทำงาน" ซึ่งควรเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างแท้จริง

 ความสุขที่ไม่เท่ากัน

ผลสำรวจประจำปี 2568 จากศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเก็บข้อมูลจากพนักงานกว่า 10,340 คน จาก 140 องค์กรทั่วประเทศ พบว่า คนทำงานที่เป็น LGBTQ+ มีระดับความสุขในการทำงานต่ำกว่าพนักงานชายและหญิงอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่1) ซึ่ง"ความสุขในการทำงาน" ในที่นี้ หมายถึง ความสบายใจในการทำงาน ความมั่นคงในหน้าที่ การได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม การทำงานเป็นทีมมีเพื่อนร่วมทีมที่ดี และความพึงพอใจในโอกาสเติบโตในสายอาชีพ

ภาพที่ 1 ระดับความสุขในการทำงานของคนทำงานในองค์กร จำแนกตามเพศ ปี 2568

ความสุขในการทำงานที่น้อยกว่าเพื่อนร่วมเพศอื่นๆของชาว LGBTQ+ ได้กลายเป็นภาพจำที่เกิดขึ้นมากว่าทศวรรษ โดยผลการสำรวจนี้ สอดคล้องกับข้อมูลในอดีตจากการสำรวจ “HAPPINOMETER” ของศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย  ที่จัดทำต่อเนื่องมานานมากกว่า 10 ปี โดยพบว่าความสุขของพนักงาน LGBTQ+ มักต่ำกว่ากลุ่มเพศอื่นมาโดยตลอด ซึ่งชี้ให้เห็นถึง “ช่องว่างเรื้อรัง” ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ระดับความสุขในการทำงานของคนทำงานในองค์กร จำแนกตามเพศ ปี 2559 -2568

หมายเหตุ: - ข้อมูลแสดงเฉพาะผลการสำรวจในปี 2559 2560 2563 2564 2565 2566 และ 2568

- สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างคนทำงานชาว LGBTQ+ อยู่ระหว่างร้อยละ 1.4 -2.4

 รากของความเหลื่อมล้ำ

หนึ่งในปัจจัยหลักที่สะท้อนความไม่เท่าเทียม คือ โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและระดับค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพ โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหารระดับสูง ซึ่งยังคงผูกขาดโดยภาพจำของความ “น่าเชื่อถือ” ที่ยังผูกติดกับชายแท้ ขณะเดียวกัน การแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผยในที่ทำงาน ยังคงถูกมองว่า “ไม่มืออาชีพ” โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่หรือในสายงานอนุรักษ์นิยม เช่น ราชการ การเงิน หรืออุตสาหกรรมหนัก ส่งผลให้ LGBTQ+ หลายคนเลือกไม่เปิดเผยตัวตน

รองศาสตราจารย์ ดร.จรัมพร โห้ลำยอง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ทางออกที่เป็นไปได้

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การมีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้ LGBTQ+ เข้าถึงตำแหน่งบริหาร และการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพในความแตกต่าง คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

เพราะ "บ้านที่อบอุ่น" ไม่ได้วัดจากการยิ้มรับเพียงผิวเผิน หากแต่วัดจากความรู้สึกปลอดภัยของทุกคนในทุกห้องของบ้าน โดยเฉพาะ "ห้องทำงาน" ซึ่งควรเป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าใครจะเป็นใคร...ก็สามารถเติบโตได้อย่างเท่าเทียม