ครม.เห็นชอบเนรมิตรพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา สร้างแลนด์มาร์คใหม่ของชาวศรีสะเกษ

ครม.เห็นชอบเนรมิตรพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา สร้างแลนด์มาร์คใหม่ของชาวศรีสะเกษ





Image
ad1


"ไตรศุลี" เผย ครม. เห็นชอบผ่อนผันใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา สร้างแลนด์มาร์คใหม่ของชาวศรีสะเกษ ผุดสกายวอล์คยลทิวทัศน์เทือกเขาพนมดงรัก ยกระดับจุดชมวิวผาพญากูปรี  ดึงดูดท่องเที่ยว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการผ่อนผันให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรี ในท้องที่ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลไพรพัฒนา(อบต.) ไพรพัฒนา ได้เริ่มโครงการการพัฒนาบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรีเมื่อปี 2558  มีสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ เช่น ห้องน้ำ ลานจอดรถ สวนหย่อม ร้านอาหาร เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  เป็นแหล่งรายได้ท่องเที่ยวของชุมชน แต่โครงการซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง

ประกอบกับ อบต.ไพรพัฒนา มีแผนการพัฒนาโครงการเพิ่มเติม จึงได้ยื่นขออนุญาตพร้อมจัดทำรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting Report: EAR)ครอบคลุมเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน ซึ่งคณะกรรมการเพื่อพิจารณารายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบรายงาน EAR แล้ว พร้อมเสนอขอให้ ครม. ผ่อนผันการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  อบต.ไพรพัฒนา ได้แบ่งพื้นที่พัฒนาโครงการฯ เป็น 3 ส่วน บนพื้นที่ 14 ไร่ 2 งาน  1) โซนแปลง A สำหรับเป็นที่จอดรถ ห้องสุขา อาคารประชาสัมพันธ์ ร้านค้าของที่ระลึกและสินค้าชุมชน เนื้อ ที่ 6 ไร่  2 งาน

2) โซนแปลง B สำหรับเป็นศาลาที่พัก สวนหย่อมร้านอาหาร และจุดชมวิว (SKY WALL)หรือสะพานลอยเดินเท้า  ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์บริเวณเทือกเขาพนมดงรักและอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยงาม เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และพัฒนาพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เนื้อที่รวม 7 ไร่ 2 งาน

3) โซนแปลง C สำหรับเป็นเส้นทางเดินในการศึกษาธรรมชาติ และอนุรักษ์พื้นที่สวนป่าสมุนไพร เนื้อที่ 2 งาน 

 เสนาะ วรรักษ์/รายงาน