ทีเส็บ ผนึก สมุทรปราการ ผลักดันเทศกาล “ปราการ Festival” ต้นแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจครอบคลุมทุกมิติ

ทีเส็บ ผนึก สมุทรปราการ ผลักดันเทศกาล “ปราการ Festival” ต้นแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจครอบคลุมทุกมิติ





Image
ad1

ในยุคที่การแข่งขันแย่งชิงนักท่องเที่ยวคุณภาพเดินทางเข้าสู่พื้นที่นั้น การจัดงานเทศกาลอย่างสร้างสรรค์จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “Festival Economy” หรือ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยงานเทศกาล” ได้กลายเป็นเครื่องมือทรงพลังในการพลิกโฉมเมืองจากการจัดงานเทศกาลขยายผลเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชน เทศกาลไม่เพียงเป็นพื้นที่แสดงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดนัดพบของผู้คนจากหลากหลายภูมิภาค สร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่น แรงงานสร้างสรรค์ และธุรกิจบริการรอบข้าง อีกทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์เมืองให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ต้องเข้ามาเยี่ยมเยือนอีกด้วย

นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจ เทศกาลยังทำหน้าที่ “สร้างชีวิตให้กับเมือง” (Re-enlivening the City) โดยการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นเวทีแห่งการพบปะ แรงบันดาลใจ สร้างความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วม เทศกาลที่ออกแบบอย่างมีเป้าหมายและดึงเอาเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเข้ามาผสมผสาน จะช่วยปลุกจิตวิญญาณของเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผู้คนในเมืองเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) และมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของเมืองตนเองต่อยอดจากงานเทศกาล

ที่สำคัญ เทศกาลยังมีศักยภาพในการ “กระจายรายได้” ไปสู่ชุมชนโดยรอบได้อย่างเป็นรูปธรรม แตกต่างจากกิจกรรมรูปแบบ Event-based ที่มักก่อให้เกิดรายได้กระจุกตัวเฉพาะจุด เทศกาลจึงช่วยกระจายเม็ดเงินไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ร้านค้า ศิลปินพื้นบ้าน และบริการทั่วไป ตั้งแต่ที่พัก ร้านอาหาร ไปจนถึงการขนส่งในเมือง ช่วยให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่หมุนเวียนจริงในระดับพื้นที่ รวมถึงยังดึงดูด “นักท่องเที่ยวคุณภาพจากนอกพื้นที่” จากมั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เมืองมีโอกาสเพิ่มระยะเวลาเฉลี่ยในการพักค้างของนักท่องเที่ยว และต่อยอดสู่การพัฒนาระบบบริการในเมืองได้ในระยะยาว

Prakan Festival: จากจุดเริ่มต้นปราการปกป้อง สู่เทศกาลที่สะท้อนอัตลักษณ์เมืองอย่างยิ่งใหญ่

เทศกาล “Prakan Festival” งานที่ได้รับรางวัลระดับเอเชีย รางวัล Asia Local and Traditional Art Festival of 2024 Awards จาก สมาคม IFEA International Festivals and Events Association งานแรกของจังหวัดสมุทรปราการ ถือกำเนิดขึ้นโดยการส่งเสริมสนับสนุนหลักจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือ ทีเส็บ ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์เทศกาลที่หลอมรวมเอาอัตลักษณ์เด่นประจำจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของเมืองที่เป็นเมืองแห่งป้อมปราการในอดีตเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีชีวิต โดยงานครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2023 ณ พื้นที่บริเวณป้องผีเสื้อสมุทร ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ด้วยแนวคิด “นิทรรศการมีชีวิต (Life Exhibition)” ที่จำลองเหตุการณ์วิกฤติการณ์ รศ.112 ครั้งแรกของประเทศไทย

และในปี 2024 ที่ยกระดับกระจายการจัดงานไปยังพื้นที่ต่างๆกว่า 7 พื้นที่ ทั่วสมุทรปราการ อาทิ ป้อมพระจุล ป้อมผีเสื้อสมุทร หอชมเมือง พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ เมืองโบราณ วัดขุนสมุทรจีน ชุมชนพระประแดง โดยชูเอาอัตลักษณ์ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่มาเป็นองค์ประกอบของการจัดกิจกรรม

สำหรับการจัดงานในปี 2025 นี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2568 ณ ตลาดน้ำเมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ เป็นการนำเสนอแนวคิด Life Exhibition โดยนำเอารูปแบบวิถีชนชาวสยามในอดีต ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ มารวมจัดแสดงขึ้นในพื้นที่ตลาดน้ำเมืองโบราณ ผ่านการเล่าขาน เรื่องราว แห่งความภาคภูมิใจของชาวสมุทรปราการในอดีต โดยการสนับสนุนผลักดันร่วมกันของภาครัฐและเอกชนท้องถิ่นในพื้นที่ คือ เมืองโบราณและเทศบาลตำบลบางปู โดยเกิดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย อาทิ การย้อนพาสู่บรรยากาศราชสำนักกับนิทรรศการมีชีวิต ผ่านการ ถ่ายทอดพิธีต้อนรับราชอาคันตุกะแบบโบราณ พิธีบายศรีสู่ขวัญ บูชาแม่พระธรณี แม่คงคา และแม่โพสพ พร้อมดนตรีพิธีกรรม “วารีกังวาล สาธุการปวงบรรพ์” โดยศิลปินศิลปาธร และดนตรีจากน้ำ โดย อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ เชื่อมโยงศรัทธาผ่านอาหาร “บงกชโอชา” จากเกสรบัวเมืองโบราณ และนิทรรศการบัวโลกโดยกลุ่ม “บงกชสคราญ”

ร่วมชมแกลเลอรีศิลปะในเรือนโบราณ ภาพสีน้ำ ภาพทวยเทพ การเปิดประสบการณ์ประวัติศาสตร์กับโคตรทหาร และกลุ่ม Reenactor Thailand ผ่านนิทรรศการยุทโธปกรณ์ เครื่องแบบ และมณฑลทหารจำลอง กิจกรรมเสวนา “ปราการแห่งเอกราชชาติสยาม” เปิดเอกสารลับจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พร้อมเรือรบจำลองโดยพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

Immersive Theatre จำลองสงครามโลกครั้งที่ 2 และละครร้อง “เมืองนิมิต” ถ่ายทอดวีรกรรมกู้ชาติ ชมหนังกลางแปลง “ศึกบางระจัน” ฉายบนจอข้ามลำน้ำ พร้อมนักรบพายเรือจริงร่วมฉาก โซนภูมิปัญญาไทยจากภัทรเวชสยาม การแพทย์แผนไทย ตำรับยาลูกแปลกแม่ เสวนากล้วยไม้ไทยโดยเครือข่ายลูกศิษย์ ศ.ระพี สาคริก และพื้นที่รวมพลังชุมชน ชาติพันธุ์ เกษตรกร และนักสร้างสรรค์ ร่วมออกแบบเมืองในอนาคต

ดร.สุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคกลาง (TCEB – สสปน.) กล่าวว่า “Prakan Festival เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้ ‘เทศกาล’ เป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทีเส็บได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน โดยผู้เชี่ยวชาญได้ออกแบบแผนการยกระดับ เพื่อการเติบโตของงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านเนื้อหา การมีส่วนร่วมของชุมชน และการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่

ความสำเร็จของงาน คือการที่เทศกาลได้กลายเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นถึงโอกาสนำไอเดียสร้างที่เราออกแบบร่วมกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไปต่อยอดกิจกรรมต่อในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้กิจกรรมเกิดการขยายตัวเชื่อมโยงไปยังชุมชน ศิลปิน นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลเป็นรูปธรรมต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้น

ทีเส็บมองว่า สมุทรปราการ มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นเมืองเทศกาลเชิงประวัติศาสตร์ (Festival City) ที่มีรากฐานทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมชัดเจน มีพื้นที่สร้างสรรค์หลากหลาย และมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ทีเส็บยินดีส่งเสริมผลักดันและให้คำแนะนำร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เทศกาลนี้เติบโตสู่ระดับนานาชาติ เชื่อมโยงกับเครือข่ายท้องถิ่น สู่การเป็นเมืองในใจของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงในภูมิภาคต่อไป

ด้านนายธีรพล ชุนเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลบางปู จ. สมุทรปราการ กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือกันของเทศบาลตำบลบางปูกับ Prakan Festival นั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่อัตลักษณ์ของท้องถิ่นเราผ่านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ซึ่งมีรากลึกทั้งในฐานะเมืองท่า เมืองปราการ และเมืองหลวงทางจิตวิญญาณของคนหลากหลายเชื้อชาติ

เทศบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ สถานศึกษา และเครือข่ายวัฒนธรรม เพื่อให้เทศกาลนี้ไม่ใช่เพียงงานเฉพาะกิจที่จบไปปีต่อปี แต่เป็น ‘กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม’ ที่ส่งเสริมทั้งอัตลักษณ์ท้องถิ่นและเศรษฐกิจในระยะยาว

เราเชื่อว่า Festival Economy ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่คือโอกาสใหม่ของท้องถิ่นอย่างเรา เมืองชานเมือง ที่มีเรื่องราวของตัวเอง พร้อมจะส่งเสียงอย่างภาคภูมิ เทศบาลตำบลบางปูพร้อมสนับสนุนและร่วมพัฒนาโครงการร่วมกัน และยินดีเป็นพื้นที่ต้นแบบของการใช้ ‘Festival’ เป็นเครื่องมือเชื่อมศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้กับเมืองแห่งนี้”