"ธีรเดช" YOUNG OTOP บุรีรัมย์ นำภูมิปัญญาผ้าไทยต่อยอดสินค้าสู่สากล

"ธีรเดช" YOUNG OTOP บุรีรัมย์ นำภูมิปัญญาผ้าไทยต่อยอดสินค้าสู่สากล





Image
ad1

ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ลูกหลานพี่น้องชาวอีสานจำนวนมาก หันมาสนใจร่วมกันอนุรักษ์ผ้าไทย สืบทอดจากบรรพบุรุษ ที่ร่วมกันรังสรรค์งานทอผ้า ลวดลายที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ได้อยู่คู่กับคนรุ่นใหม่ตลอดไป ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้นำความรู้ด้านงานศิลปะบนเนื้อผ้ามาต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น

อย่าง “ ธีรเดช กลายไพร” หรือน้องร็อค หนึ่งกลุ่มทอผ้าไหมทุ่งสว่าง จ.บุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมโครงการ  “ยัง โอทอป” เพื่อฝึกฝนนำองค์ความรู้การทอผ้าในอดีตมารังสรรค์ผลงานผ้าไทยยุคใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์YOUNG OTOP ไปสู่สากล เล็งเห็นว่าศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่นำพาสินค้าท้องถิ่นต่อยอดภูมิปัญญาผ้าและเครื่องต่างกายไปสู่สากลได้ไม่ยาก เพราะคลังสมองเหล่านี้มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จนกลายเป็นมรดกตกทอดมายาวนาน

ธีรเดช เล่าว่า ตนเรียนจบมาจากสายการเมืองและการปกครอง จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ แต่ยังสนใจเรื่องงานทอผ้าไทยมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า คุณยาย ช่วงสมัยเด็กๆอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านทุ่งสว่าง คลุกคลีกับงานทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เห็นการทำผ้ามัดหมี่ การทอผ้าไหม แต่เด็กๆคงช่วยทำอะไรญาติได้ไม่มากนัก

ยามว่างได้มีโอกาสช่วยทำงานคุณยาย ได้เงินค่าขนม 100 บาท ดีใจมาก ช่วงที่ยังเป็นเด็กยังไม่มีแนวคิดที่อยากทำอาชีพทอผ้ามากนัก ทางฝ่ายคุณพ่อ คุณแม่ ต่างมีความฝันอยากให้ลูกรับราชการ เป็นครู เพราะเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมชนบท ซึ่งช่วงนั้นครอบครัวยึดอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ขายในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยสนใจเรื่องงานไม้มากนัก

“ช่วงเด็กๆเริ่มโตขึ้นหันมาทอผ้า พร้อมกับเริ่มเลี้ยงไหมควบคู่ไปด้วยกับคุณยาย ตั้งแต่นั้นมาเห็นแววในเรื่องงานทอผ้า จึงได้ช่วยคุณยาย เขียนกราฟในกระดาษบ้าง โดยการเอาผ้าทอเก่า ๆมาเป็นแบบ จึงเกิดความซึมซับตั้งแต่นั้นมา ยามว่างจากการเรียนจะกลับบ้านมาช่วยคุณยายบ้างเป็นครั้งคราว” ธีรเดช กล่าว

พอทราบข่าวว่ามีโครงการ YOUNG OTOP คัดเลือกเยาวชนที่อายุ 15-30 ปี จากท้องถิ่นจังหวัดละ1-2 คน มาเรียนรู้การทอผ้า การออกแบบลวดลาย การบรรจุภัณฑ์ และการหาช่องทางการตลาด จึงได้องค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาการทอผ้าให้เกิดความน่าสนใจ โดยเฉพาะลวดลายผ้าที่มีกลิ่นอายอีสานใต้ ซึ่งตนมีแนวคิดมาพัฒนาการออกแบบ เพื่อสร้างจุดต่างในตลาด

หลังจากเริ่มนำผ้าทอมือออกสู่ตลาด  เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขึ้น เนื่องจากกรมพัฒนาชุมชนนำสินค้ามาออกงานต่างๆในส่วนกลางมีกลุ่มลูกค้าที่เห็นผ้าของกลุ่มทอผ้าไหม ทุ่งสว่าง เริ่มบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ตอนนี้พอมีรายได้ที่ดีระดับหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรมพัฒนาชุมชน ,วัฒนธรรมจังหวัด, อุตสาหกรรม จังหวัด และพาณิชย์จังหวัด คอยดูแลและเมื่อมีการจัดงานสำคัญๆในจังหวัดจะนำไปโชว์ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าได้เห็นสินค้า

อย่างน้อยผลงานการทอผ้าของลูกหลานในชุมชน ที่นำเอาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาต่อยอด วันหนึ่งสร้างชื่อเสียงให้ท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้แบบยั่งยืนต่อไป