พ่อเมืองชลบุรีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อความเป็นสิริมงคล ในงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี

พ่อเมืองชลบุรีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อความเป็นสิริมงคล ในงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี





Image
ad1

เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ประจำปี พ.ศ.2567 โดยมีน.ส.สุดินา แก้วดี ท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายสุติกรณ์ จำเริญพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี ณ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ด้วยจังหวัดชลบุรี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และเทศบาลเมืองชลบุรี จัดงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 153 ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้ชื่องาน “หนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-16 ตุลาคม 2567 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี และสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยกำหนดจัดพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ประจำปี พ.ศ.2567 ในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

และในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เป็นวันวิ่งควาย (ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11) ซึ่งในปีนี้มีกิจกรรมภายในงาน โดยจะมีพิธีเปิดงานในช่วงเช้า แหริ้วขบวนเกวียนกัณฑ์ 13 กัณฑ์ ขบวนคำขวัญจังหวัดชลบุรี และขบวนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ทั้ง 11 อำเภอ กิจกรรมแข่งขันวิ่งควาย การประกวดสุขภาพควาย ควายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และควายเผือก พิธีทำขวัญควาย กีฬาพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้า OTOP ของดีจังหวัดชลบุรี และกิจกรรมแสง สี เสียง อีกมากมาย

ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีของชาวชลบุรีที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ที่ปฏิบัติในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันใกล้สิ้นฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นฤดูกาลที่การไถหว่านได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวไร่ชาวนามองเห็นผลผลิตจากแรงกายของตน ตลอดจนแรงสัตว์ที่ได้ใช้ทำงาน จึงคำนึงถึงบุญคุณของสัตว์ที่ได้ใช้ไถนามาเป็นเวลานาน ควรจะได้รับความสุขบ้างตามสภาพจึงได้ตกแต่งวัวควายของตนให้สวยงาม เป็นการทำขวัญควายแล้วนำควายมาเข้าเมืองเพื่อพบปะกับบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย เพื่อพูดคุยสารทุกข์สุขดิบกัน เหตุที่เลือกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 นั้น เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ทุกคนต้องหยุดงานไปวัด

คนในเมืองจะซื้อของไปห่อข้าวต้มหางทำบุญตักบาตรใน “วันเทโวโรหนะ” ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ประเพณีวิ่งควายจึงแฝงไปด้วยแนวคิดและคำสอนในเรื่องของบุญคุณและความสามัคคี รวมทั้ง บรรพชนเป็นห่วงว่าประเพณีสูญหายไป ซึ่งในปีใดไม่มีการจัดวิ่งวัวและวิ่งควาย ในปีนั้นวัวควายจะเป็นโรคระบาดตายกันมาก จึงต้องบนบานศาลกล่าวและนำวัวควายมาวิ่งเพื่อรักษาประเพณีไว้

และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2455  ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีในสมัยนั้น คือ พระยาวิเศษฤาไชย ได้จัดวิ่งควายถวายทอดพระเนตรที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเพณีวิ่งควายได้มีมานานแล้วในอดีตและเป็นประเพณีที่แปลกกว่าจังหวัดอื่น

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ขอเชิญชวนเที่ยวชมประเพณีวิ่งควายซึ่งเป็นประเพณีอันเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดชลบุรีมาถึง 153 ปี ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก และมุ่งหวังว่าการจัดงานในปีนี้จะนำมาซึ่งความคึกคักทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และที่สำคัญจะเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างดี