อุ้มสาวลงน้ำ สืบสานประเพณีเก่าแก่สมัยร.5


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 เม.ย.2567 ที่ชายหาดเกาะขามใหญ่ ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในการเปิดงานเทศกาลสงกรานต์เกาะสีชัง วันไหลเกาะขาม "อุ้มสาวลงน้ำ" โดยมีนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา นายอำเภอเกาะสีชัง นายสรศักดิ์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง รวมถึงชาวบ้าน อ.เกาะสีชัง และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมประเพณีอุ้มสาวลงน้ำกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับความโดดเด่นของงานสงกรานต์เกาะสีชังที่ไม่มีใครคือประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกปี ที่เกาะขามใหญ่ เนื่องจากชาวเกาะสีชังจะมีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักต้องออกทะเลอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ในช่วงประเพณีสงกรานต์จึงเหมือนเป็นวันที่พวกเขาได้หยุดพัก ไม่ออกทะเล แต่จะพาครอบครัวและรับประชาชน และนักท่องเที่ยวพาเดินทางจากเกาะสีชังมารวมตัวกันที่เกาะขามใหญ่
ทั้งนี้ ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เป็นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวชาวเกาะ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่เกาะขามใหญ่ ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเกาะสีชัง 1 กม.และนั่งเรือจากท่าเรือศรีราชา มาที่เกาะขามใหญ่ 12 กม.ใช้เวลาเดินทางมาประมาณ 45 นาที ซึ่งภายในงานนั้นมีกิจกรรมมากมาย เช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือพาย มวยทะเลและประเพณีอุ้มสาวลงน้ำได้ชมกัน ซึ่งสร้างความสุนกสนานให้ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ด้วยความคิดต้องการคงเอกลักษณ์ของอำเภอเกาะสีชังไว้ จึงได้จัดอุ้มสาวลงน้ำและประเพณีกองข้าว ขึ้นทุกปี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าของประเพณีที่เก่าแก่ และร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งชาวเกาะสีชังนั้นจะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด แต่จะใช้วิธีอุ้มคนลงน้ำแทน ซึ่งการเล่นจะมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น “อุ้มสาวลงน้ำ” หรือ “จูงมือลงทะเล”ชายหนุ่มหรือผู้สูงวัยจะเลือกสาวที่ชอบแล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล ในระหว่างที่อุ้มลงน้ำจะอวยพรซึ่งกันและกัน
นอกจากหนุ่มสาวแล้ว ผู้สูงอายุจะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสได้สนุกสนานร่วมกับครอบครัวและลูกหลาน และเป็นการขอพรในวันสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศที่เป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่คนพื้นที่เข้ามาท่องเที่ยวในงานประเพณีอุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่นี้ จะไม่มีการถือเนื้อถือตัว จะยอมให้ชายหนุ่มหรือผู้สูงวัยอุ้มลงน้ำกันเป็นเรื่องแปลกและทึ่งแก่ชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นจนเดินทางมาท่องเที่ยวกันจนโด่งดังไปทั่วโลก