สปสช. ลงพื้นที่อำนนาจเจริญลุยยกระดับบัตรทอง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่”ระยะ 2

สปสช. ลงพื้นที่อำนนาจเจริญลุยยกระดับบัตรทอง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่”ระยะ 2





ad1

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี พร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการนวตกรรมด้านสุขภาพในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกพยาบาลไหมแก้ว อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ มี พยาบาลเวชปฏิบัติประจำคลินิก 2 คน ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตั้งแต่ วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดท้อง บริการทำแผล  มีผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท มารับบริการเฉลี่ยวันละ 25 คน เปิดให้บริการทุกวัน    ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ ที่เคยรับบริการจากคลินิกพยาบาลไหมแก้ว มาให้การต้อนรับคณะฯในครั้งนี้ด้วย ซึ่งประชาชนต่างมีความพึงพอใจกับการให้บริการ ซึ่งมีสะดวกและสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี 

จากนั้นคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมความพร้อมในการให้บริการของเยาวราภรณ์คลินิกกายภาพบำบัด อ.เมือง อำนาจเจริญ โดยมี นักกายภาพบำบัด 1 คน เปิดให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมา 5 เดือนแล้ว มีความพร้อมให้บริการตามโครงการฯ โดยให้บริการด้านกายภาพบำบัด และการดูแลผู้ป่วยในระยะฟื้นฟู (IMC) มีเครือข่ายกายภาพบำบัดทุกอำเภอ มีการทำงานเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องดูแลในระยะฟื้นฟูที่บ้าน นอกเวลาราชการอีกด้วย   และเยี่ยมอีกแห่งหนึ่งเป็นคลินิกทันตกรรมสไมล์พลัส อ.เมืองอำนาจเจริญ โดยมี ทันตแพทย์ประจำคลินิก 2 คน ให้บริการทันตกรรมรักษาได้แก่ ขูด อุด ถอน บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน ได้แก่ sealant และเคลือบฟลูออไรด์ และจะเปิดให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยผู้แทนสภาวิชาชีพ มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ในระหว่างวันที่  15 - 16 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเยี่ยมหน่วยบริการนวตกรรมในพื้นที่และจัดเวทีชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับบัตร 30 บาท รักษาทุกโรคภายใต้โครงการ“บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ระยะที่ 2 พร้อมทั้งให้บริการเชิงรุกเปิดรับสมัครขึ้นทะเบียนหน่วยบริการนวตกรรมสหวิชาชีพ 7 สาขา ซึ่งกำหนดเริ่มโครงการ ระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด ในเดือนมีนาคม 2567 จังหวัดอำนาจเจริญเป็น 1 ใน 8 ของจังหวัดที่จะให้บริการในระยะที่ 2

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเปิดให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส และขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายสู่ระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัดซึ่งจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2567 นี้ ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ   สปสช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิบัตรทอง ได้เปิดรับสมัครหน่วยบริการนวตกรรมใหม่ เพื่อให้มีหน่วยบริการที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาล ได้แก่

1. ร้านยาชุมชนอบอุ่น ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ บริการให้คำปรึกษาโดยเภสัชกรและรับยา
2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น บริการทำแผล ล้างตา ล้างจมูก เปลี่ยนสายให้อาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น 
3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น บริการตรวจแล็บ 22 รายการตามใบสั่งตรวจจากแพทย์ 
4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น บริการฟื้นฟูผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก โดย รพ.ที่ให้การรักษาส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการต่อที่คลินิกฯ

5. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น บริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์ 
6. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอก 
และ 7.คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น บริการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา

             
นอกจากนี้ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ และสภาวิชาชีพ จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่สถานพยาบาลเอกชน และอำนวยความสะดวกการสมัครเข้าร่วมจัดบริการ และมีหน่วยบริการนวตกรรมใหม่ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 23 แห่ง ร้านยา 8 แห่ง คลินิกทันตกรรม 8 แห่ง คลินิกเวชกรรม 6 แห่ง เทคนิคการแพทย์ 2 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 5 แห่ง และคลินิกกายภาพบำบัด 1 แห่ง เข้าร่วมเวทีประชุมชี้แจงในครั้งนี้ 

ภาพข่าว/ทิพกร   หวานอ่อน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  รายงาน