ทอท. เร่งเครื่องศึกษาสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง 1.4 แสนล้าน รับนโยบาย ‘นายกฯเศรษฐา’
ทอท. กางแผนสร้าง 2 สนามบินใหม่ มูลค่า 1.4 แสนล้าน ขานรับนโยบาย ‘เศรษฐา’เดินเครื่องเร่งศึกษาสร้าง ‘สนามบินนานาชาติอันดามัน’จ.พังงา พื้นที่ 6 พันไร่ วงเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นล้าน คาดเสร็จพร้อมเปิดใช้ปี 73-74 รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน เปิดเฟสแรกรับ 15 ล้านคน ดันเป็นศูนย์กลางการขนส่งกลุ่มจังหวัดอันดามัน
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการท่องเที่ยว และต้องการผลักดันให้ จ.ภูเก็ต, พังงา, กระบี่ และระนอง เป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต และการกระจายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามัน ทั้งนี้ ทอท.จึงมีแผนจะเร่งดำเนินการลงทุนพัฒนาก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ในพื้นที่ จ.พังงา
สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามันนั้น เดิมเคยมีการศึกษาว่าไว้แล้วในเบื้องต้น ตามแผนแม่บทที่จะพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 บริเวณ ต.โคกกลอย จ.พังงา บนพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ และเมื่อเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทอท.จะเร่งดำเนินการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาประมาณปลายปี 2566 และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาแผนประมาณ 8 เดือน
กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากการศึกษาแล้วเสร็จ จะดำเนินการในขั้นตอนออกแบบรายละเอียดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตพื้นที่ทั้งหมด วิธีการก่อสร้าง งบประมาณ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เพื่อที่จะขออนุมัติดำเนินการ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ โดยในขั้นตอนการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และขั้นตอนการขออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่า จะใช้ระยะเวลาในกระบวนการดำเนินการตั้งแต่การศึกษา ออกแบบ และขออนุมัติโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ปี หลังจากนั้น จะดำเนินการในขั้นตอนเปิดประกวดราคา และดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 7 ปี นับจากปี 2567 ดังนั้น จึงคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2573–2574
สำหรับการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามันนั้น จะใช้เงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเพียงรายเดียว เนื่องจากมีกระแสเงินสดเพียงพออยู่แล้ว ทั้งนี้ ในเบื้องต้นอยากพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานที่มี 2 ทางวิ่ง (รันเวย์) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรองรับอากาศยาน และสามารถรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน ซึ่งการลงทุนก่อสร้างนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรก จะรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนก่อนขยายในระยะที่ 2 ต่อไป
“ผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ตในปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 12 ล้านคนต่อปี ส่วนท่าอากาศยานกระบี่มีผู้โดยสารประมาณ 5 ล้านคนต่อปี รวมกันก็เป็น 17 ล้านคน ขณะที่ความต้องการการเดินทางมายัง ภูเก็ต กระบี่ และพังงามีมากกว่านี้ แต่ตารางการบิน (สล็อต) เต็ม ทำให้ท่าอากาศยานรองรับไม่พอ ส่วนในอนาคตก็มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างสนามบินอันดามัน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางขนส่งในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวด้วย” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ทอท ยังมีแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 วงเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาทอีกด้วย โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับท่าอากาศยานอันดามัน แต่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะมีความยากกว่า เนื่องจากที่ดินบริเวณ จ.พังงาส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ที่ดินบริเวณ จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ขนาดพื้นที่ประมาณ 5,000-6,000 ไร่ จะเป็นที่ดินเอกชน ส่งผลให้การจัดหาที่ดิน มีความยากล่าช้า