‘ไทยรัฐกรุ๊ป’จัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกความยั่งยืนสอดคล้อง‘ททท.’มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิ เป็นศูนย์

‘ไทยรัฐกรุ๊ป’จัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกความยั่งยืนสอดคล้อง‘ททท.’มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิ เป็นศูนย์





ad1

“ไทยรัฐกรุ๊ป” จัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY  สร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก เพื่อความยั่งยืนของโลก สอดคล้องกับ ททท.ที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิ  เป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ชี้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ภาคเอกชนที่ร่วมทำการตลาดกับ ททท.ต้องได้มาตรฐานด้านความยั่งยืนเท่านั้น ด้านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีเป้าหมายเข้าไปฟื้นฟูป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ “กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา” ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชวนเที่ยวแบบมีขยะน้อยชิ้นที่สุด

​นางสาวจิตสุภา วัชรพล ผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป เปิดเผยว่า ไทยรัฐกรุ๊ปตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่นับว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงของโลก และของประเทศไทย สื่อในเครือ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย และได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตภัณฑ์ Eucerin จึงได้จัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY ขึ้นในรูปแบบของนิทรรศการผสมผสานการเสวนา เพื่อสร้างความเข้าใจ     ปลูกจิตสำนึก เพื่อความยั่งยืนของโลกและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิ       เป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)

กิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY จัดขึ้นในวันที่ 29-30 สิงหาคม 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G โซน SEMI OUTDOOR ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ภายในงานจะมีนิทรรศการ   ให้ความรู้เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon และ บูธกิจกรรม ต่างๆ อาทิ บูธบริจาค เสื้อผ้ามือสอง โดยไทยรัฐกรุ๊ป บูธจากผู้ประกอบการด้านโรงแรม บูธสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน และกิจกรรมการผลิตสวนในขวดแก้ว และเปิดพื้นที่กิจกรรม "Road to Net Zero" ให้กลุ่มเป้าหมาย  เข้าร่วม

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ได้จัดให้มีเสวนา ในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก” โดยเชิญนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วม

ตลอดจนมีการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้หัวข้อ "การสร้างแหล่งท่องเที่ยว แบบ Net Zero"   โดย ตัวแทนจากผู้เข้าร่วมโครงการ STGs Youth Camp ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิธีกรร่วมพูดคุยกับ        คุณบอส และ คุณโนอึล นักแสดงจากซีรีย์ เรื่อง บรรยากาศรัก ในมุมมองแนวคิด "การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์      การท่องเที่ยว แบบ Net Zero" และมินิคอนเสิร์ต โดย คุณบอส และ คุณโนอึล

จากนั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 มีเวทีพูดคุยกับ คุณซันนี่ คุณปลั๊กไฟ นักแสดงจากชีรีย์ เรื่อง Wedding Plan ในมุมมองแนวคิด "การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว แบบ Net Zero" มินิคอนเสิร์ตโดย คุณซันนี่  คุณปลั๊กไฟ นักแสดงจากชีรีย์ เรื่อง Wedding Plan พร้อม มินิคอนเสิร์ต โดยวงดนตรี จาก นักศึกษา

ขณะเดียวกัน สื่อในเครือ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืนของโลก ซึ่งทางไทยรัฐทีวี มีการผลิตแอนิเมชั่น ให้ความรู้ ด้าน Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ภายใต้ ชื่อ ย.ยักษ์ รักษ์โลก  โดย ย.ยักษ์ ยักษ์เขียว เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นไทยรัฐ ที่จะมาสร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนได้ตระหนัก ถึงความสำคัญในการช่วยโลกให้ยั่งยืน

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. ได้มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(Sustainable Tourism Goals : STGs) และมุ่งสู่ Net Zero Tourism หรือการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยได้พัฒนาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)เพื่อนำไปสู่การดำเนินการพัฒนาตามบริบททางการท่องเที่ยว และจัดทำคู่มือเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวยั่งยืน “STGs Easy” ให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) ให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว มีมาตรฐานในการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

“ในปี 2568 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคเอกชนที่จะร่วมงานกับ ททท.จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรการด้านความยั่งยืน หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่งเท่านั้น จึงจะร่วมงานกับ ททท.ในการทำการตลาดท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ”

โดยอาจจะเป็นมาตรฐานที่จัดทำโดยหน่วยงานอื่น หรือ มาตรฐานด้านความยั่งยืนของ ททท.ประกอบด้วย โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ที่ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง ตามคู่มือ STGs Easy ประกอบด้วย 3 ระดับ คือ 3 ดาว 4 ดาว และ 5 ดาว หรือ โครงการ CF-Hotels สำหรับธุรกิจโรงแรม ที่มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีกิจกรรมต่างๆ ในการลดผลกระทบ  ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของโรงแรม และโครงการ Thailand Tourism Awards ที่ได้เพิ่มรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) ให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พักนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายการนำเที่ยว หรือสถานประกอบการอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้ามาตรฐานเหล่านี้ ททท.จะเป็นพี่เลี้ยงให้เข้าร่วมโครงการใด โครงการหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน และททท.จะส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ลูกค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

นางสาวสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวว่า  มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ขยายผล “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จำนวน 100,000 ไร่ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท และกักเก็บคาร์บอน 500,000 ตัน   พร้อมวางเป้าหมายในปี 2567 จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือมากขึ้น เพื่อขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ นำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน ภายในปี 2570 ภายใต้ความมุ่งหวังสร้างป่าที่สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน เพราะชุมชนจะช่วยดูแลป่า

ขณะที่ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ไปหักลบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการได้ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้คลอบคลุม     ป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ ซึ่งการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เร็วเท่าใดขึ้นอยู่กับการเข้ามาร่วมมือของทุกภาคส่วน

นายกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการท่องเที่ยวแบบ NET ZERO หรือ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral tourism) สามารถทำได้โดยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน หันมาเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานหรือพายเรือ เพื่อสัมผัสชีวิตชุมชนที่ได้ไปเยี่ยมเยืยน ลองให้ชีวิตได้ศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติและใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอยู่เรียบง่าย ใช้ขยะให้น้อยชิ้นที่สุด