สสว.และ วว. ร่วมหารือ European Digital SME Allianceณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อยกศักยภาพ SME ไทย

สสว.และ วว. ร่วมหารือ European Digital SME Allianceณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อยกศักยภาพ SME ไทย





ad1

 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว), ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เดินหน้าสร้างเครือข่ายนานาชาติเพื่อสนับสนุน SME ไทย ล่าสุดนำคณะหารือกับ European Digital SME Alliance เครือข่าย ICT ใหญ่สุดในยุโรป เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน และพัฒนา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต เพื่อยกศักยภาพ SME ไทย

คณะเดินทางจากประเทศไทย ประกอบด้วย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงาน และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ร่วมด้วยศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมด้วย นางสาวจินห์จุฑา มโนธรรม ที่ปรึกษา (ฝ่ายสหภาพยุโรป) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยมี Mr. Antonio Grasso, Policy Director of The European Digital SME Alliance, Ms.Justina Bieliauskaite, Projects Director of The European Digital SME Alliance, Ms. Deborah Goll, Senior Project Manager of The European Digital SME Alliance ร่วมให้การต้อนรับ

Mr.Antonio Grasso กล่าวว่า “The European Digital SME Alliance เป็นเครือข่ายทางด้าน ICT ที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางในยุโรป มีเครือข่ายกว่า 45,000 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งการดำเนินงานส่วนใหญ่จะอยู่ภายในยุโรป มีคณะผู้เชี่ยวชาญกว่า 450 คน ทำงานและติดตามเกี่ยวกับมาตรฐานทางธุรกิจด้าน Digital อย่างใกล้ชิด โดยดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ที่ช่วยขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนถ่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้สมาชิกของ European Digital SME Alliance มีความหลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกด้าน อาทิ AI (Artificial Intelligence) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ( Cyber security) ข้อมูลสารสนเทศ (Data) ที่ปรึกษาด้านข้อมูลสารสนเทศ (IT consultancy)”

Mr. Antonio กล่าวต่อไปว่า องค์กรทำงานหลัก 3 ด้าน อย่างแรก คือ ด้านนโยบาย ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุโรป เพราะเป็นตัวกำหนดแนวปฏิบัติของสมาชิกแต่ละองค์กร เช่น กลุ่มปฏิบัติงาน (Working Group) กลุ่มเป้าหมาย (focus groups) และภาระหน้าที่ต่างๆ ทั้งนี้ Alliance ได้มีการปรับปรุงระเบียบด้าน Artificial Intelligence อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่ตามแนวทางการดำเนินงาน (Approach) ซึ่งเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องมีประเมินแนวทางในการพัฒนา เพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่จะพัฒนาด้านการตลาดต่อไป

นอกจากนี้ องค์กรยังต้องมีการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมในบริบทของผู้ประกอบการต่อผู้ประกอบการด้วยกัน (B2B) หรือ ผู้ประกอบการต่อรัฐ เพื่อจะมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานที่จัดทำขึ้น มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ SMEs และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ด้าน Ms.Justina Bieliauskaite ได้เล่าถึงการดำเนินงานด้านที่ 2 คือ การเข้าถึงแหล่งทุน Alliance ได้ให้ความสนับสนุนและมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน ทั้งการจัดหาเครื่องมือและอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการช่วยผู้ประกอบการเขียนโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของสถาบันการเงินต่างๆ และด้านที่ 3 คือ การสร้างเครือข่าย โดยมีแพลตฟอร์มการจับคู่ทางธุรกิจ (Matchmaking platform) ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งการสร้างเครือข่าย ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรวบรวมแนวทางการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมาไว้ด้วยกัน

จากนั้น รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ได้เล่าถึงการทำงานขององค์กรว่า “สสว. เป็นหน่วยงานภาครัฐของไทย มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเป็นสื่อกลางในการให้ข้อเสนอแนะ และให้คำปรึกษากับรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของเอสเอ็มอี ซึ่งนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบไปสู่การดำเนินงานในยุคดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ สสว.จึงสนใจศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับตัวอย่างนโยบาย หรือการปฏิบัติที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ให้ก้าวทันยุคดิจิทัล”

ที่ประชุมยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในการดำเนินงานอันเป็นประโยชน์ โดย Alliance ได้แนะนำแนวทางการดำเนินงานในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมาก คือ การสร้าง ศูนย์นวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Innovation Hubs) ในแต่ละภูมิภาค ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการลงทุนหรือแหล่งทุนทั้งของเอกชนและรัฐบาล เพื่อจัดทำเครื่องมือต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกในโครงการทดลองต่างๆ

นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต สู่การพัฒนาเพื่อยกศักยภาพ SME ไทยต่อไป