โคราชอ่วมไข้เลือดออกระบาดหนัก!นักเรียนป่วยสะสม182 ราย ดับ 1 ศพ


นครราชสีมา-นักเรียนป่วยเป็นไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น รายงานปี 2566 ป่วยสะสม 182 ราย เสียชีวิต 1 ราย สคร.9 ขอความร่วมมือสถานศึกษา เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกล่าสุดของประเทศไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม มากถึง 18,173 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 15 ราย ในขณะที่สถานการณ์ทางระบาดวิทยา โรคไข้เลือดออก ปี 2566 สัปดาห์ที่ 22 สถานการณ์โรคไข้เลือดออก เขตสุขภาพที่ 9 (วันที่ 1 มกราคม - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566) มีผู้ป่วยสะสม 492 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือในช่วงสัปดาห์ที่ 14 – 21 พบผู้ป่วยเพียง 254 รายเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ปี 2566 กับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2561-2565) พบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และแนวโน้มของโรคสูงกว่าปี 2565 อย่างต่อเนื่อง
เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด ในปี 2566 พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 182 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคอ้วน คลินิกวินิจฉัยเป็นโรคอื่น และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้า , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 167 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 83 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 60 ราย ซึ่งกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต คือ อยู่ในวัยผู้ใหญ่ (45-54 ปี) มีโรคประจำตัว และมีประวัติดื่มสุรา
ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก จะมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอย ประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ จึงขอให้สังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิดด้วย และไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนคมารับประทาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้
ปีนี้คาดการณ์ว่า โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งตามวงรอบของปีที่จะระบาด และขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน จึงขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองและสถานศึกษา ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แนะนำให้ลูกหลานให้ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุงก่อนไปโรงเรียน นอนในมุ้ง รวมทั้ง ให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคทุกสัปดาห์” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง , 2.เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ทำให้สามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.
โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา