ศธ. ร่วมกับ ศอ.บต. ระดมความเห็นขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ จชต. ยกระดับการศึกษา ผลิตคนดี คนเก่ง มีงานทำ

ศธ. ร่วมกับ ศอ.บต. ระดมความเห็นขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ จชต. ยกระดับการศึกษา ผลิตคนดี คนเก่ง มีงานทำ





ad1

 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ แนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หน่วยงานด้านการจัดการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  ณ โรงแรมเซาเทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี

โดยที่ประชุมมีการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดประชุมรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา แบบโฟกัสกรุ๊ป ณ  โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ใน 3 ประเด็น คือ เด็กและเยาวชนทุกคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เด็กและเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาที่สำเร็จการศึกษามีโอกาสศึกษาต่อ มีอาชีพ มีงานทำ ประเด็นการศึกษาเพื่อสร้างสังคมสันติสุข โดยระดมความคิดเห็นในการจัดการศึกษาบนความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้กับเยาวชน

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติ หากเยาวชนได้รับการศึกษาดี ตอบโจทย์ความเป็นไปของสังคม วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้เยาวชนมีทักษะความรู้ นำไปสู่การสร้างอาชีพ รายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ โดยเป็นพื้นที่ที่นักเรียนไม่มีวันหยุด วันจันทร์-ศุกร์ เรียนสามัญ เสาร์-อาทิตย์ เรียนศาสนา (ตาดีกา) เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เด็กกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่เลือกเรียนโรงเรียกเอกชนสอนศาสนา ซึ่งมีการสอนทั้งสามัญและวิชาศาสนาควบคู่กัน ส่วนที่เหลือมีเยาวชนเลือกเรียนโรงเรียนในสังกัดภาครัฐ บางส่วนก็เลือกเรียนศาสนาในสถาบันปอเนาะเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีกว่า 507 แห่งในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการศึกษาในพื้นที่ทั้งโรงเรียนของรัฐ เอกชน สถาบันปอเนาะ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การผลิตคนดี คนเก่ง และมีงานทำ เรียนแล้วต้องรู้ว่า จบแล้วจะไปไหนต่อ มีงานรองรับหรือไม่

โดยที่ประชุมมีการนำเสนอโครงการต่างๆ ที่หนุนเสริม 3 ประเด็นของการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ โครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์หลักสูตรเข้มข้นและเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดตั้งสถาบันภาษานานาชาติจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้การจัดการศึกษาสามารถผลิตเยาวชนให้เป็นคนดี มีงานทำ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้