โครงการชลประทานศรีสะเกษเดินเครื่องแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นเร่งด่วน

โครงการชลประทานศรีสะเกษเดินเครื่องแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นเร่งด่วน





ad1

โครงการชลประทานศรีสะเกษ ประชุมหารือกับสำนักงาน ปภ.จังหวัดศรีสะเกษ  เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเร่งด่วน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566  นายจำรัส  สวนจันทร์  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ  ได้ประชุมหารือร่วมกับนายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ  เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับราษฎรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเร่งด่วน  เนื่องจากมีราษฎรในบางพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษได้ขาดแคลนแหล่งน้ำในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค  ทำให้มีผลกระทบด้านน้ำกินน้ำใช้ต่อราษฎร  ซึ่งอาจจะทวีความรุนแรงด้านภัยแล้งมากยิ่งขึ้นหากไม่ดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน  ซึ่งผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในจังหวัดศรีสะเกษทั้งระบบและเสนอแนวทางและเทคนิคในการผันน้ำจากบริเวณแหล่งน้ำที่มีน้ำต้นทุนสูง มายังบริเวณพื้นที่ผลิตน้ำประปาที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว  เพื่อให้สามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวได้  ณ ห้องประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) โครงการชลประทานศรีสะเกษ

จำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ

นายจำรัส  สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงสถานะการณ์น้ำในจังหวัดศรีสะเกษ จากการได้ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำปัจจุบันและวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา  พบว่าสถานการณ์น้ำในจังหวัดศรีสะเกษนั้น จังหวัดศรีสะเกษมีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน  2  เขื่อน สามารถเก็บกักน้ำได้ 139.44  ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกักได้ 114.19 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 81.90% มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 16 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 208.34 ล้านลูกบาศก์เมตร

 ปัจจุบันเก็บกักได้ 84.56 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 40.59%  และจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าในจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีปริมาณน้ำฝนตกในรอบ 30 ปีเฉลี่ย  1445.8 มิลลิเมตร  ในปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนตก 1692.6 มิลลิเมตร  ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี   และในปี 2566 นี้ มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมแล้ว 164.9 มิลลิเมตร (เดือนพฤษภาคมฝนตก 40 มิลลิเมตรแล้ว) และจากการวิเคราะห์ฝนตกรายเดือนในรอบ 30 ปีพบว่าในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะมีฝนตกเฉลี่ยเดือนละประมาณ 225 มิลลิเมตร

ดังนั้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวข้างต้น  จึงคาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้จะมีฝนตกอีกประมาณ 185 มิลลิเมตร  ซึ่งจะเริ่มมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนทั้ง 2 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 16 แห่งดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษจะได้บริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง และให้มีผลกระทบกับราษฎรด้านภัยแล้งน้อยที่สุด

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน