โรงพยาบาลมหาสารคามใช้ 'Platform Social Telecare'ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวครอบคลุมทุกมิติ

โรงพยาบาลมหาสารคามใช้ 'Platform Social Telecare'ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวครอบคลุมทุกมิติ





ad1

โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกับ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาการดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการใช้ Platform Social Telecare สนับสนุนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ และสหวิชาชีพ ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวครอบคลุมทุกมิติ

นางสุดาจันทร์ สุคะตะ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวถึงการดำเนินโครงการ  การพัฒนาเครือข่ายการดูแลทางสังคมกลุ่มคนพิการ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของโรงพยาบาลมหาสารคาม โดยใช้ Platform Social Telecare พื้นที่ดำเนินการได้แก่ ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและสหวิชาชีพ ทั้งทีมสุขภาพในพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าตูม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาสารคาม และจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม รวมถึงภาคเอกชน

จากการสำรวจข้อมูลคนพิการในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย วิเคราะห์ด้วย Platform Social Telecare สามารถแยกเป็นกลุ่มสีเขียว จำนวน 36 ราย กลุ่มสีเหลือง จำนวน 44 ราย  และกลุ่มสีแดง จำนวน 20 ราย ออกแบบการช่วยเหลือตามสภาพปัญหาของผู้รับบริการ โดยผู้ป่วยกลุ่มสีแดง จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม พัฒนาทักษะการดำรงชีวิต เช่น การอาบน้ำ รับประทานอาหาร ฯลฯ ให้คนพิการได้มีส่วนร่วมช่วยเหลืองานเล็กน้อย มีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัว การประสานส่งต่อด้านสุขภาพ การรักษา ได้รับยาต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการประสาน อบต.ในพื้นที่ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด (พมจ.) ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัว การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ได้ประสานเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ท่าตูม  นักกายภาพบำบัดและผู้ดูแล

นางสาวธนัญภรณ์ วาโยบุตร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ท่าตูม กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้จาก  Platform Social Telecare ทำให้เห็นข้อมูลในภาพรวม เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานเพราะได้มีการส่งต่อข้อมูลไปยังเครือข่ายสหวิชาชีพในการดูแลคนพิการ และวางแผนการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ การใช้ Platform Social Telecare ยังช่วยลดเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงเยี่ยมบ้าน แต่การประเมินแผนการช่วยเหลือผู้พิการครอบคลุมความจำเป็นด้านต่าง ๆ ได้มาก ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต ครอบครัว การปฏิสัมพันธ์ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้ว่าหน่วยงานใดจะต้องเข้ามาดำเนินช่วยดูแลคนพิการหรือญาติให้มีภาพคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมมีข้อเสนอแนะขยาย Platform Social Telecare ช่วยในเรื่องการส่งต่อด้วย

นายวิฑูรย์ ภาคมฤกษ์ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ อบต.ท่าตูม กล่าวว่า ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการฯ เข้าไปดูเรื่องสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมกับคนพิการ จากการใช้ Platform Social Telecare ทำให้ทำงานเร็วขึ้น จัดลำดับความต้องการจำเป็นได้รวดเร็วแม่นยำ ได้ทำงานประสานกับเครือข่ายดูแลผู้พิการ ปรับสภาพความเป็นอยู่ ทั้งพื้นบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำ ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ จึงเห็นว่าโครงการฯ เป็นโครงการที่ดี ควรได้รับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของประชาชนในทุกพื้นที่